10 ความจริงอันแสนโหดร้ายของ ‘หนังและซีรีส์ที่สร้างมาจากเกม’
เกมบางเกมก็ทำออกมาได้ดี พอยกมาเล่าเรื่องใหม่ก็เลยถูกคาดหวังเป็นธรรมดา
ในรอบหลายทศวรรษนี้ เราจะเห็นผู้กำกับมากหน้าหลายตาเริ่มเอาเกมต่าง ๆ มาสร้างเป็นภาพยนตร์กันมากขึ้น หลายผลงานก็ออกมาปัง เคารพต้นฉบับเกม กลายเป็นที่พูดถึงเป็นวงกว้างทั้งในกลุ่มเกมเมอร์และผู้ชมทั่วไป ตัวอย่างที่ชัดเจนในยุคนี้ก็จะมีเกม The Last of Us ที่นำไปทำเป็นซีรีส์และได้รับคำชื่นชมจากผู้ชมและนักวิจารณ์ในระดับที่ดี ในขณะที่หนังหลายเรื่องก็พังเพราะอาจมีเนื้อหาที่ผิดไปจากต้นฉบับ หรือฉีกออกไปเลย แล้วด้วยความที่เป็นหนังที่อ้างอิงจากชื่อของเกม ความคาดหวังที่ผู้ชมต้องการก็จะสูงตามความนิยมในเกมนั้น ๆ ด้วย
เราได้สรุปข้อเท็จจริง 10 ประการอันแสนโหดร้ายเกี่ยวกับภาพยนตร์และซีรีส์ที่มาจากเกม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นความรู้สึกที่ผู้ชมหลายคนจะต้องคุ้นเคยหรืออดคิดไม่ได้กันอย่างแน่นอน
1. คนที่ไม่ได้เล่นเกมจะรู้สึกเหมือนตัวเองไม่ได้ประสบการณ์ที่ดีที่สุดในการดูหนังหรือซีรีส์ที่สร้างจากเกม
ความรู้สึกแบบนี้มักจะเป็นเรื่องแรก ๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้ชมหน้าใหม่หลายคนโดยเฉพาะ คนดูกลุ่มนี้จะมีความรู้สึกเหมือนขาดความรู้และความเข้าใจในบางเรื่องของหนังหรือเกมไป ซึ่งผิดกับกลุ่มที่เคยเล่นเกมนั้น ๆ อยู่แล้ว พวกเขาจะเข้าใจเรื่องราวของเกม ตัวละคร องค์ประกอบต่าง ๆ มาล่วงหน้า ทำให้ผู้ชมที่เป็นกลุ่มเกมเมอร์จะรู้สึก “อิน” มากกว่ากลุ่มผู้ชมที่ไม่เคยเล่นเกม ปัจจัยนี้จึงกลายเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับทีมผู้กำกับภาพยนตร์ที่มาจากเกมด้วยว่าพวกเขาจะทำอย่างไรเพื่อให้หนังสามารถสื่อสารให้คนดูทุกคนเข้าใจได้อย่างเท่าเทียมกัน
2. เรื่องที่สร้างจากเกมบางเรื่องอาจมีการสปอยล์เนื้อหาสำคัญในเกม ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับการเล่นเกม
แน่นอนว่าหนังที่สร้างมาจากเกมส่วนใหญ่ก็จะต้องมีการนำเรื่องราว ตัวละคร ฉาก หรือองค์ประกอบอื่น ๆ ที่มาจากเกมเข้ามานำเสนอ ในบางเรื่องหรือบางฉากของหนังก็อาจมีจุดพลิกผันหรือเหตุการณ์สำคัญที่กลายเป็นการ “สปอยล์” เนื้อเรื่องเกมต้นฉบับไปเลย
เหตุผลนี้จึงทำให้หลายคนที่ยังไม่เคยเล่นเกมแล้วต้องมาพบกับเหตุการณ์ชวนระทึกขวัญ หรือสร้างความไม่สบายใจหลังจากได้ดูหนังก็เริ่มที่จะส่ายหัวกับการไปลองสัมผัสเกมต้นฉบับ แต่ก็ใช่ว่าหนังทุก ๆ เรื่องจะมีความคล้ายกับต้นฉบับเกมทั้งหมด ความรู้สึกบางอย่างที่เกิดขึ้นในหนังหรือในเกมมันก็ยังมีข้อแตกต่างที่สังเกตได้อยู่บ้าง ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางความรู้สึกด้วย ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึก “กลัว” บางสิ่งบางอย่างในหนัง มันก็อาจทำให้ผู้ชมคนนั้นไม่กล้าเล่นเกมเลยก็มี หรือบางโมเมนต์ที่สร้าง “ความประทับใจ” ให้คนดู จนอยากลองหาเกมต้นฉบับมาสานต่อความสุขนี้ ก็มีเช่นกัน
หรือกลับกัน หากผู้ชมบางคนเคยเล่นเกม ๆ นั้นมาอยู่แล้ว หรือยังเล่นไม่จบ ก็จะเริ่มรู้สึกว่าตัวเองถูกสปอยล์เนื้อหา เมื่อได้ไปดูหนัง มันก็อาจทำให้ความรู้สึกที่มีต่อหนังและเกมเริ่มเปลี่ยนไปก็ได้เช่นกัน
3. คนที่เล่นเกมมาก่อนจะถูก “สปอยล์” เนื้อเรื่องหลักมาแล้ว
กลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้วสำหรับเกมเมอร์ที่เคยเล่นเกมที่ถูกนำไปสร้างเป็นหนังแล้วจะเข้าใจเนื้อเรื่องหลัก ๆ ของเกมมาล่วงหน้า พวกเขาก็จะมีมุมมองที่เปลี่ยนไปกับเรื่องราวเหล่านั้น โดยเฉพาะถ้ามันเป็นเหตุการณ์ที่ตราตรึงใจ หรืออาจรู้สึกเฉย ๆ ไปเลยถ้าพวกเขาคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในเกมไม่ได้มีอะไรให้น่าจดจำ
เพื่อแก้ปัญหาในจุดนี้ ผู้กำกับภาพยนตร์ส่วนใหญ่ก็พยายามที่จะ “ปรับแต่งเนื้อหา” ให้มีความพิเศษมากกว่าหรือสร้างความแตกต่างไปจากเกมเล็กน้อยเพื่อให้ผู้ชมได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่อาจไม่พบเจอในเกม
4. นักแสดง อาจทำให้คนดูมีความรู้สึกที่เปลี่ยนไปต่อระบบกราฟิกและภาพรวมของเกม
ปัจจัยนี้เกิดขึ้นได้ทั้งกับคนดูและคนเล่นเกม หากคนดูที่ไม่เคยเล่นเกมเห็นว่าตัวละครในหนังดูดีมีสง่าราศรี พวกเขาก็จะเริ่มเอาองค์ประกอบของเกมเข้ามาเปรียบเทียบ หรือกลับกัน หากเป็นคนดูที่เคยเล่นเกมแล้วมาลองดูหนัง ก็จะเริ่มตั้งคำถามว่า “แคสท์” หรือ “องค์ประกอบต่าง ๆ” ที่เลือกมานำเสนอผ่านหนังนั้นเหมาะสมแล้วจริงหรือไม่ ?
ข้อเปรียบเทียบระหว่างเกมและหนังในส่วนนี้ก็กลายเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่สร้างความประทับใจให้กับผู้ชม บางคนอาจชอบตัวละครในหนังมากกว่าเกม หรือบางคนอาจชอบองค์ประกอบต่าง ๆ ในเกมมากกว่าหนัง แต่ทั้งหมดนี้ก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นตามความคุ้นเคยของคน ๆ นั้น อาจไม่มีถูกหรือผิดทุกประการ
5. แคสท์ อาจไม่ถูกใจคนรักเกมทุกคน
ในปัจจุบัน ตัวละครในเกมหลายตัวก็เริ่มมีหน้าตาที่สมจริงมากขึ้น ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี Motion Capture ที่พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกยุคทุกสมัย แต่เมื่อเกม ๆ นั้นถูกนำมาทำใหม่เป็นภาพยนตร์ ทีมผู้กำกับก็มีความจำเป็นที่จะต้อง “รีแคสท์” นักแสดงใหม่
ด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้คนรักเกมหลายคนอาจรู้สึกไม่คุ้นเคยกับนักแสดงหน้าตาใหม่ ๆ ที่มารับบทเป็นตัวละครเดิม ประเด็นนี้กลายเป็นปัญหาสำคัญที่อาจทำให้เกมเมอร์บางคนไม่ถูกใจแคสท์ของหนังไปเลย หนัก ๆ ก็กลายเป็นดราม่า เกิดข้อเปรียบเทียบ หรือแย่ยิ่งกว่าก็อาจทำให้คนที่เล่นเกมแบนหนังเรื่องนั้นไปเลย ยิ่งถ้าแคสท์ที่เลือกมานั้นไม่มีความใกล้เคียงกับตัวละคร หรือความสามารถในการแสดงอาจไม่ดีเท่า ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของทีมสร้างหนังด้วย เพราะยังมีหนังที่มาจากเกมหลายเรื่องที่ใช้แคสท์ไม่ตรงกับตัวละครในเกม แต่ก็สามารถขายเรื่องราวของหนังได้ดี แต่ถ้าหากหนังเรื่องนั้นเลือกแคสท์มาไม่ดี แล้วบทหรือองค์ประกอบอื่น ๆ ดันพังอีก หนังก็คงถูกทั้งเกมเมอร์และผู้ชมทั่วไปสาปส่งอย่างแน่นอน
6. มันเป็นเรื่องยาวที่เกมเมอร์จะไม่ “รู้สึกอยากเมาท์มอย”
โดยเฉพาะถ้าไปดูด้วยกันเป็นกลุ่ม แล้วมีหนึ่งคนในกลุ่มที่เคยเล่นเกมต้นฉบับมาแล้ว ในขณะที่คนอื่น ๆ ในกลุ่มอาจยังไม่เคยเล่นมาก่อน มันก็มีโอกาสที่คนเล่นเกมมาแล้วเริ่มอยาก “แสดงความรู้สึก” เกี่ยวกับตัวละครหรือเรื่องราวในเกมให้คนอื่น ๆ ในกลุ่มฟัง เช่น ตัวละครนั้นในเกมไม่เห็นเก่งเท่าในหนังเลย หรือตัวละครในเกมทำยังงั้น ยังงี้ได้ ทำไมในหนังทำไม่ได้ หรือหนักยิ่งกว่าก็อาจมีการ “สปอยล์” เนื้อหาสำคัญ ๆ จากเกมมาให้เพื่อนฟัง ปัจจัยนี้ก็อาจทำให้เสียบรรยากาศในการดูหนังไปเลย
7. หนังที่สร้างจากเกมในอดีตมี “ประวัติไม่ดี” ทำให้หนังจากเกมใหม่ ๆ ถูกคาดหวังน้อยลง
ความล้มเหลวของหนังที่สร้างจากเกมหลายเรื่องในยุคเก่า ๆ นั้นกลายเป็นสิ่งที่ผู้คนเริ่มเคยชินมาโดยตลอด ปัญหานี้กลายเป็นความท้าทายครั้งใหญ่สำหรับใครก็ตามที่คิดจะสร้างหนังจากเกมขึ้นมาในยุคนี้ เพราะผู้คนมีความคาดหวังต่ำและมีความกังวลว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยอีก
แต่ในปัจจุบันข้อครหานี้ก็เริ่มคลี่คลายลงบ้าง ผลงานที่สร้างจากเกมหลาย ๆ อย่างก็เริ่มไต่เต้าขึ้นมาเป็นหนังหรือซีรีส์ที่ได้รับความนิยมอันดับต้น ๆ ในช่วงที่มีการเปิดตัว ตัวอย่างที่ชัดเจนก็จะมีซีรีส์ Arcane ที่อิงจากเกม League of Legends, Castlevania ที่อิงมาจากเกมในชื่อเดียวกัน, ซีรีส์ Cyberpunk Edgerunners ที่มาจากเกมไซเบอร์พังค์ชื่อดัง รวมถึง The Last of Us ที่มาจากเกมในชื่อเดียวกันและกลายเป็น Talk of the Town ในทุกวันนี้ ผลงานเหล่านี้ก็ยังชี้ชัดว่าหนังที่สร้างจากเกมไม่ได้แย่ไปหมดทุกเรื่อง
แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังไม่ได้ทำให้มุมมองของหนังที่สร้างจากเกมนั้นเปลี่ยนไปจากลบเป็นบวกได้ทันที ทุกอย่างก็ยังคงต้องใช้กาลเวลา ความนิยมและการถ่ายทอดที่ดีจากผู้สร้างหนังเป็นแรงขับเคลื่อนต่อไป
8. ความกังวลว่าเรื่องราวใหม่จะสูญเสียความเป็นเกมหรือองค์ประกอบในเกมไป
มันเป็นเรื่องยากและท้าทายสำหรับใครก็ตามที่สนใจอยากจะทำหนังและซีรีส์ที่สร้างมาจากเกมโดยไม่ต้องเผชิญหน้ากับความคาดหวังและคำวิจารณ์ ยิ่งมีการถ่ายทอดเรื่องราวออกมาจาเกมมากเท่าไร แฟนเกมในชื่อเดียวกันก็ยิ่งถูกใจมากเท่านั้น แต่ถ้าหากเรื่องราว ตัวละคร หรือองค์ประกอบอื่น ๆ เริ่มหลุดห่างออกไปจากเกมมากเกินไป มันก็จะถูกมองว่าเป็น “เรื่องราวใหม่” ที่ใช้ชื่อเกมที่มีอยู่จริงเฉย ๆ ส่วนคนจะชอบหรือไม่ชอบ ก็ขึ้นอยู่กับภาพรวมของหนังหรือซีรีส์ด้วย
แต่ถ้าหากเรื่องราวต่าง ๆ หลุดลอยหรือฉีกจากต้นฉบับเกมในชื่อเดียวกันมากเกินไป หรือการดำเนินเรื่องโดยรวมแย่เกินไป สิ่งแรก ๆ ที่ผู้สร้างหนังต้องเจอก็คือคำวิจารณ์ที่พวกเขา “ไม่เคารพต้นฉบับเกมเลย” ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของทีมผู้สร้างด้วยว่าจะออกแบบให้การเล่าเรื่องและภาพลักษณ์ตัวละครเป็นอย่างไร
9. เรื่องราวที่สร้างออกมาไม่ดี มีส่วนให้ชื่อเสียงของเกมพังได้
ปัญหานี้คือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อจากปัจจัยในข้อ 8 และถึงแม้ว่า “หนังที่ทำออกมาไม่ดี” อาจไม่ได้สร้างผลกระทบอะไรมากถ้าหากเกมเมอร์ชื่นชอบเกมต้นฉบับอยู่แล้ว แต่อาจส่งผลกระทบกับทีมผู้พัฒนาเกมในด้านการตลาด ถ้าหากว่าหนังที่สร้างจากเกม ๆ นั้นทำออกมาได้ไม่ดี ภาพลักษณ์เหล่านั้นก็อาจเป็นผลเสียกับต้นฉบับเกมด้วย เพราะชื่อของเกมก็จะถูกกลบเกลื่อนด้วยเสียงวิจารณ์หรือความเห็นในทางลบผ่านสื่อต่าง ๆ มากขึ้น แล้วปัจจัยทั้งหมดนี้ก็จะมีผลต่อความนิยมทั้งตัวหนังและเกมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ
ในปัจจุบันเราก็จะได้เห็นผู้สร้างเกมหลายคนเริ่มเข้าไปมีส่วนร่วมกับการสร้างหนังมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ความเป็นต้นฉบับของพวกเขาเสียหายไปอย่างไรล่ะ !
10. เค้าโครงเกมมักจะมีความตายตัวมาจากเกม…
ด้วยความที่หนังและซีรีส์ประเภทนี้จะมีการนำเค้าโครงสำเร็จจากเกมมาใช้ยืนพื้น การดำเนินเรื่องและจุดจบของเรื่องราวก็มักจะถูกเซตไว้ในแบบที่มันเคยเป็น นอกเสียจากว่า ผู้กำกับหนังเหล่านั้นมีความตั้งใจที่จะวางเรื่องใหม่ทั้งหมดแต่มันก็จะมาพร้อมกับความเสี่ยงหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการเคารพต้นฉบับเกม ภาพลักษณ์ของเกม การเล่าเรื่องที่แตกต่างไปจากความคุ้นเคยของคนที่รู้จักเกม กลายเป็นการก้าวออกจากกรอบของความเป็นเกมไปเลยก็เป็นไปได้ ซึ่งหากวางไว้ดี ก็รอด แต่ถ้าไม่ดี ก็จะถูกเสียงวิจารณ์ถล่มเละจนอยู่ยากขึ้นไปเลย
หรืออีกปัจจัยที่เป็นไปได้ คือการสร้างเนื้อเรื่องที่ไม่เคยมีคำอธิบายใด ๆ ในเกม หรือเป็นการขยายความส่วนต่าง ๆ ที่มีอยู่ในเกม ก็อาจเป็นไอเดียที่ดีถ้าผู้กำกับหนังเรื่องนั้นสามารถวางทุกอย่างให้ปะติดปะต่อกันได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดในยุคนี้ก็จะมีเรื่องราวของซีรีส์ Cyberpunk Edgerunners ที่มีการนำตัวละครใหม่ ๆ มาขยายจักรวาลที่มีอยู่จริงในเกม แต่ก็ยังสร้างความประทับใจให้กับแฟนเกมและผู้ชมทั่วไปได้ มันก็อาจเป็นข้อยกเว้นหนึ่งที่หลายคนยอมรับได้ ในขณะที่หนังที่สร้างจากเกมหลายเรื่องก็จะมีเค้าโครงจุดจบที่เหมือนกับต้นฉบับเกม แต่ในระหว่างทางนั้นผู้สร้างก็อาจทำให้มันแตกต่างไปบ้างเพื่อไม่ให้เกิดความจำเจ ก็อาจเป็นได้
ทั้งหมดนี้ก็คือปัจจัย 10 อย่างที่ผู้ชมทั่วไปมีความคาดหวังต่อหนังที่สร้างจากเกม ภาพรวมของเรื่องราวที่นำเกมไปสร้างใหม่และความสำเร็จของมันจะเป็นอย่างไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับการวางเรื่องของทีมสร้าง เรื่องราวต้นฉบับของเกม รวมถึงความพึงพอใจของผู้ชมด้วย