เกม

Yu Suzuki เจ้าพ่ออาร์เคดผู้เปลี่ยนระบบกราฟิกสามมิติในวิดีโอเกม

เกมตู้ขวัญใจเด็ก 80s และ 90s มาจากชายคนนี้

การเปลี่ยนแปลงระบบกราฟิกในวงการเกมเพิ่งจะเริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อประมาณ 30 กว่าปีที่ผ่านมาเท่านั้น เกมส่วนใหญ่ในยุคก่อนปี 80s นั้นยังใช้ระบบกราฟิกแบบ 2 มิติอยู่ แต่นี่ก็คือความท้าทายที่เกิดขึ้นระหว่างสองเจ้าตลาดเกมรายใหญ่ของโลกในยุคนั้นอย่างสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นที่ต่างฝ่ายต่างพยายามคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อสร้างเกมที่นำประสบการณ์เจ๋ง ๆ มาให้เกมเมอร์ได้สัมผัส บางรายก็ทำได้สำเร็จจนดังเป็นพลุแตก บ้างก็ล้มเหลวจนต้องถอนตัวไป กลายเป็นการแข่งขันที่เกิดขึ้นในวงการเกมมาตลอดหลายปี

แล้วถ้าหากเราจะพูดถึงผู้สร้างเกมชื่อดังในญี่ปุ่น หลายคนก็คงจะต้องนึกถึง Hideo Kojima เป็นชื่อแรก ๆ กันอย่างแน่นอน 

แต่หาไม่ว่า ในญี่ปุ่นนั้นยังมีครีเอเตอร์และผู้พัฒนาเกมอยู่อีกมากมายที่เคยสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ๆ ในวงการเกมมาแล้ว หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ของวงการเกมคือเรื่องการนำระบบโพลีกอนสามมิติมาใช้ในตู้เกมอาร์เคดเป็นครั้งแรก แล้วสิ่งนี้เกิดขึ้นจากทีมงาน Sega AM2 ที่นำทีมโดยชายที่ชื่อว่า Yu Suzuki

หลายคนอาจไม่รู้ว่า Suzuki คือผู้ที่อยู่เบื้องหลังการสร้างเกมดังในอดีตมากมายที่เราคุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็นเกมต่อสู้ Virtua Fighter หรือเกมตำรวจยิงโจรสุดฮิตอย่าง Virtua Cop หรือแม้แต่ซีรีส์เกม Shenmue ก็คือผลงานของเขาทั้งหมดเลย ประวัติของเขาเองก็มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งตั้งแต่ช่วงชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยไปจนถึงก้าวสำคัญต่าง ๆ ในวงการเกม หากคุณเป็นแฟนเกมอาร์เคตอยู่แล้วยิ่งไม่ควรพลาดเรื่องราวดี ๆ ของชายคนนี้เด็ดขาด ! 

จุดเริ่มต้นของผู้พัฒนาเกมสัญชาติญี่ปุ่น

Yu Suzuki เป็นชายสัญชาติญี่ปุ่น เกิดเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 1958 ในเมืองคามาอิชิ จังหวัดอิวาเตะ ประเทศญี่ปุ่น เขาเคยศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์โอคายามะ (Okayama University of Science) ในช่วงที่เขาศึกษาปริญญาตรีที่นี่ เขาเริ่มมีความสนใจในเรื่องของวิดีโอเกมได้ลองค้นคว้าข้อมูล ศึกษาเกมต่าง ๆ ที่วางจำหน่ายในยุค 60s จนถึง 80s และได้ทำบทวิจัยเกี่ยวกับ “ระบบกราฟิกคอมพิวเตอร์ 3 มิติในวิดีโอเกม” เป็นโปรเจกต์จบของตัวเอง

หนึ่งในนิสัยสุดแปลกของ Suzuki คือเขามีความคิดอยากเป็นนักออกแบบเกม แต่เขาเป็นคนที่ไม่ชอบเล่นเกมเลย เขาเลือกที่จะศึกษาการทำเกมจากการดูหนังและไปเที่ยวสวนสนุกต่าง ๆ แทน ลักษณะนิสัยที่ผิดกับรูปแบบงานของ Suzuki ทำให้เขาสามารถโฟกัสกับการทำตามเป้าหมายได้ง่ายขึ้น เพราะเขาจะมีเวลาให้กับตัวเองมากขึ้นและยังมีความยืดหยุ่นด้านความคิดสร้างสรรค์อีกด้วย ผลงานที่เขาคิดขึ้นมาจะมีความแปลกใหม่ไม่ซ้ำใครเลย  

หลังจากเรียนจบปริญญาตรีแล้ว เขาได้เข้าไปเป็นพนักงานให้กับบริษัท Sega ค่ายเกมชื่อดังของญี่ปุ่นเมื่อปี 1983 โดยเริ่มจากการเป็นโปรแกรมเมอร์ก่อนในช่วงแรก หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่เขาเลือก Sega ไม่ใช่เพราะเป้าหมายสูงสุดของทางบริษัท แต่เป็นเพราะทางบริษัทเสนอให้ “เวลาพักเบรก” กับเขามากกว่าพนักงานหรือบริษัทเกมอื่น ๆ เพื่อให้เขาสามารถใช้ความคิดอย่างเต็มที่ 

ผลงานแรกของเขากับที่ Sega คือเกมชกมวยแบบสองมิติที่ชื่อว่า Champion Boxing ลงให้กับคอนโซล SG-1000 ของค่าย วิธีการโปรโมตของเขาและทีมงานนั้นมีความแปลกใหม่ตรงที่ว่าพวกเขานำเครื่อง SG-1000 พร้อมตัวเกมไปดัดแปลงใหม่เป็นตู้เกมอาร์เคต ต่อมาผลงานชิ้นนี้กลายเป็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ทำให้ Suzuki เลื่อนขั้นเป็นผู้นำโปรเจกต์ภายในปีแรกที่เขาได้ไปทำงาน

หลังจากได้รับการโปรโมตแล้ว เขาก็มีความตั้งใจที่จะสร้างเกมอาร์เคตขึ้นมาใหม่เพื่อพิสูจน์ตัวเองว่าคู่ควรกับโอกาสครั้งใหม่นี้ เกมที่สองของเขาคือเกมรถมอเตอร์ไซค์ Hang-On โดยตัวเกมจะมีฟีเจอร์สำคัญที่ผู้เล่นสามารถ “ขยับตัว” พร้อมไปกับการจับคันเร่งมอเตอร์ไซค์จำลอง เหมือนกับว่ากำลังบิดรถสองล้อจริงอยู่ ตัวละครในเกมจะขยับตัวตามทิศทางการควบคุมของผู้เล่นอีกด้วย การมาของเกมนี้คือจุดเริ่มต้นของระบบ Taikan ที่จำลองการเคลื่อนไหวควบคุมโดยไฮดรอลิกในวงการเกมอย่างแท้จริง 

ระบบ Taikan เริ่มกลายเป็นกระแสที่ทำให้เกมเมอร์เริ่มสนใจเกมตู้มากขึ้น ผู้พัฒนาเกมต่าง ๆ ที่เป็นคู่แข่งของ Sega ก็เริ่มสร้างเกมรถแข่งออกมาสู้ในตลาดมากขึ้นตั้งแต่ยุค 80s เป็นต้นมา ในขณะที่ระบบการเล่นแบบ Taikan นั้นกลายเป็นฟีเจอร์ที่สำคัญในระบบเกมอาร์เคดและยังได้รับการพัฒนาโดยทีมผู้พัฒนาเกมยุคใหม่ให้ทันยุคสมัยมาอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้โดยไม่มีท่าทีว่าจะตายไปจากวงการเกมได้ง่าย ๆ เลย

Suzuki เคยกล่าวถึงขั้นตอนการสร้างเกมเหล่านี้ไว้ว่า “การออกแบบเกมถูกวางไว้ให้เป็นรูปแบบ 3 มิติมาตั้งแต่ต้น การคำนวณในระบบเป็นแบบสามมิติทั้งหมด แม้กระทั่งในเกม Hang-On เองผมก็ได้คำนวณเรื่องตำแหน่ง สัดส่วนและระยะการมองเห็นในรูปแบบสามมิติก่อนที่จะดัดแปลงแบบย้อนหลังให้เป็นสองมิติ ดังนั้นผม (และทีมงาน) จะคิดในแบบสามมิติเสมอ”  

ต่อยอดความสำเร็จในเกม 3D กับ Sega

หลังจาก Hang-On เริ่มเปลี่ยนกระแสวงการเกมทั่วโลก เขาก็เริ่มมีผลงานเกมใหม่ ๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเกมยิงแบบมุมมองบุคคลที่สาม Space Harrier ที่ใช้เทคโนโลยีแบบเดียวกับ Hang On แต่ก็ยังไม่โดดเด่นเท่าผลงานเกม Out Run (1986) ที่ตัวเขานำความสนใจเกี่ยวกับรถ Ferrari เข้ามาใส่ไว้ในเกมและปรับปรุงระบบให้เป็นเกมจำลองการขับรถที่สมจริงมากขึ้น ตัวเกมมีการนำระบบตัวเลือกเส้นทางให้ผู้เล่นเลือกขับ รวมถึงระบบวิทยุที่มีเพลงให้เลือกฟังถึงสามเพลงและระบบกราฟิกแบบ Nonlinear (กราฟิกไม่เป็นเชิงเส้น) ที่เขานำมาปรับใช้ในเกม ฟีเจอร์ที่โดดเด่นต่าง ๆ จากเกมนี้ ทำให้ Out Run กลายเป็นเกมแรกของ Suzuki ที่ได้รับรางวัล Game of the Year ในงาน Golden Joystick Award เมื่อปี 1987 

Suzuki ต้องการที่จะต่อยอดความสำเร็จนี้ต่อไปเรื่อย ๆ เพราะเขายังรู้สึกว่าระบบเกมสามมิติในความคิดของเขายังไปได้ไม่สุดเท่าที่ควรจะเป็น เขาจึงพยายามศึกษาเทคโนโลยีรอบโลกและพัฒนาโปรเจกต์ใหม่ ๆ ต่อไป จนกลายเป็นเกม After Burner (1987) และ Power Drift (1988) ที่เริ่มใช้ระบบ “เลื่อนไหลไปตามเส้นทาง” หรือ Road Scrolling ตามแบบเกม Out Run และเพิ่มความเป็นสามมิติเข้าไปในเกมด้วยกราฟิก Bitmap แบบเรียบให้ภาพดูมีสีสันมากขึ้น 

อีกหนึ่งเกมที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการเกมอาร์เคตก็คือ G-LOC (1990) เกมเครื่องบินรบที่ใช้ระบบ “ไจโรสโคป” (Gyroscope) เป็นครั้งแรก โดยตู้เกมจะสามารถหมุนได้รอบทิศแบบ 360 องศา ทำให้ผู้เล่นรู้สึกเหมือนกับได้ควบคุมเครื่องบินจริงอยู่ 

ความสำเร็จทั้งหมดนี้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ทาง Sega ตัดสินใจสร้าง “ทีมเครื่องเล่น” แยกออกไปอย่างจริงจัง โดยใช้ชื่อว่า “Amusement Machine Research and Development Team”  หรือ AM Team โดย Suzuki ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดการทั่วไปในทีมวิจัยและพัฒนากลุ่มที่ 2 ซึ่งต่อมาได้ชื่อทีมคือ Sega AM2 พร้อมกับพนักงานอีกมากกว่า 100 คน ในกลุ่มนี้มีสมาชิกคนสำคัญอย่าง Toshihiro Nagoshi นักออกแบบเกมคนสำคัญเข้ามาอยู่ในแผนกนี้ด้วย

Suzuki เองก็ไม่รอช้าที่จะเริ่มต้นเส้นทางใหม่ครั้งนี้ด้วยการพัฒนา “ต้นแบบโมเดลซีรีส์ใหม่” ที่จะนำไปใช้ในระบบตู้เกมอาร์เคดและสานฝันการทำเกมสามมิติของเขาต่อไป 

AM2 จุดเปลี่ยนแปลงชีวิตอย่างแท้จริง

Suzuki กับทีม AM2 ได้ปล่อยผลงานแรกที่ชื่อว่า Virtua Racing ซึ่งเป็นเกมรถแข่ง Formula 1 ที่ใช้ “ระบบกราฟิกโพลีกอนสามมิติ” เป็นครั้งแรกในวงการเกมอาร์เคด ทำให้โมเดลของรถแข่ง รวมถึงองค์ประกอบต่าง ๆ ในเกมดูมีความเสมือนจริงมากขึ้น การเคลื่อนไหวต่าง ๆ จึงดูสมจริงและสบายตามากขึ้น ระบบกราฟิกนี้ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ให้กับวงการเกมอีกครั้ง 

เกม Virtua Racing นั้นยังติดอันดับ 15 เกมที่มีอิทธิพลสูงสุดตลอดกาล จากการจัดอันดับของ GameSpot อีกด้วย !

ระบบโพลีกอนสามมิตินี้ยังถูกนำไปปรับใช้กับเกมแนวอื่น เช่นเกม Virtua Fighter (1993) เกมต่อสู้ที่ผู้เล่นสองคนจะแข่งขันกันเอง มีการนำโมเดลตัวละครมนุษย์แบบโพลีกอนสามมิติแทนที่กราฟิกแบบบิทแมพมาใช้เป็นครั้งแรก นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มระบบการต่อสู้แบบ “หลุดออกนอกวง” และการ “บล็อกการโจมตี” เข้ามาด้วย ความแปลกใหม่ที่เกิดขึ้นทำให้เกมนี้ได้รับการจัดอันดับจาก 1UP ให้เป็นหนึ่งในเกมที่มีอิทธิพลสูงสุดตลอดกาลและกลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญสำหรับเกม Tekken และ Soul Calibur จากค่ายเกมคู่แข่งของ Sega ในขณะที่ Virtua Fighter ก็มีภาคต่อถึง 3 ภาคด้วยกัน โดยในภาคที่สอง พวกเขาได้เริ่มนำระบบ Motion Capture ซึ่งระบบนี้เคยใช้ครั้งแรกกับเกม Mortal Kombat ของ Midway Games ในปี 1992 มาปรับใช้กับเกมอย่างจริงจัง สร้างความฮือฮาให้กับอุตสาหกรรมตู้เกมต่อสู้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อีกผลงานที่เปลี่ยนแปลงการเล่นเกมในยุคนั้นคือเกม Daytona USA (1994) เกมรถแข่งที่เปิดตัว “ระบบกลั่นกรองพื้นผิว” (Texture Filtering) เป็นครั้งแรกในวงการเกมอาร์เคด มีการเพิ่มระบบเกียร์รถยนต์เพื่อให้ผู้เล่นสามารถควบคุมได้เหมือนกับการขับรถแข่งจริง และยังมีเกม Virtua Cop (1994) ที่เปลี่ยนแปลงระบบเกม Light Gun ให้มีกราฟิกแบบล้ำยุค โดยผู้เล่นจะสามารถใช้ปืนเล็งไปที่จอตู้เกมและยิงฉากต่าง ๆ ในเกมได้ มีระบบการเก็บแต้มที่วัดผลจากการเอาตัวรอด ระบบตัวประกัน รวมถึงระบบการ “ต่อสู้กับบอส” การกระจายตัวของโมเดลฉากและตัวละครในเกมก็มีความสมจริงมากขึ้น เกมยิงนี้กลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้กับเกม GoldenEye 007 (1997) ของค่าย Rare สัญชาติบริติชในเวลาต่อมา

ทั้งหมดนี้คือผลงานบางส่วนที่ Suzuki และทีมงาน AM2 สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับวงการอาร์เคดของโลกใบนี้ แน่นอนว่าความตั้งใจการเปลี่ยนแปลงของเขาจะไม่จบง่าย ๆ เท่านี้อย่างแน่นอน เพราะเขาก็ยังมีอีกหนึ่งซีรีส์เกมแอคชั่นผจญภัยอย่าง Shenmue ที่กลายเป็นเกมสุดฮิตเฉพาะกลุ่ม รวมถึงของการจัดตั้งสตูดิโอใหม่อย่าง Ys Net ของเขาก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน

Now Loading

ชอบเพลง Metal | บันเทิงกับการถ่ายรูป | ของโปรดคือเนื้อย่าง | เล่นเกมบ้างบางเวลา
Back to top button

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save