Nintendo ออกมาตรการปกป้องพนักงานจากปัญหาการคุกคามของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น
หมดยุค "ลูกค้าคือพระเจ้า"
เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม บัญชี Twitter อย่างเป็นทางการของง Nintendo ฝ่ายสนับสนุนลูกค้าในญี่ปุ่น ได้มีการทวิตประกาศกฎระเบียบใหม่ที่ดูผ่านๆ ก็ถือเป็นประกาศธรรมดาเกี่ยวกับ ระเบียบการซ่อม / ระเบียบการรับประกัน
▼ “ในวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2565 เราจะอัปเดต [ระเบียบการซ่อม / ระเบียบการรับประกัน] ของเรา โปรดดูรายละเอียดที่นี่”
มีโอกาสที่คุณจะปล่อยผ่านเกี่ยวกับทวิตนี้อย่างมาก เว้นแต่ว่าคุณจะเป็นคนประเภทที่ชอบอ่านข้อกำหนด และเงื่อนไขทั้งหมดสำหรับกฎระเบียบใหม่ และเมื่อตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว ก็มีข้อกำหนดใหม่เพิ่มเติมที่น่าสนใจมากสำหรับกฎระเบียบเหล่านี้ ภายใต้รายการหัวข้อย่อยของการอัปเดตคือรายการที่มีข้อความว่า “ เพิ่มรายการ [เกี่ยวกับการคุกคามของลูกค้า] ”
ลิงก์ไปยังนโยบายการซ่อมแซมฉบับเต็มเผยให้เห็นส่วนการล่วงละเมิดของลูกค้า ซึ่งระบุว่า:
เมื่อทำการสอบถามเกี่ยวกับการซ่อมผลิตภัณฑ์ โปรดอย่ากระทำพฤติกรรมที่นอกเหนือไปจากบรรทัดฐานที่สังคมยอมรับ (รวมถึงพฤติกรรมที่ไม่จำกัดเฉพาะรายการด้านล่าง) หากเราพบว่ามีพฤติกรรมดังกล่าวเกิดขึ้น เราอาจปฏิเสธที่จะซ่อมแซมหรือเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ของคุณ นอกจากนี้ หากเรามองว่าพฤติกรรมเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เราจะติดต่อตำรวจและทนายความเพื่อใช้มาตรการที่เหมาะสมในการตอบโต้
– การคุกคาม การข่มขู่ หรือพฤติกรรมที่คุกคาม
– ดูหมิ่นหรือคำพูดที่เสื่อมเสีย
– การละเมิดความเป็นส่วนตัว
– การร้องขอบริการที่นอกเหนือบรรทัดฐานทางสังคม เช่น การขอซ่อมแซมฟรีนอกเหนือจากที่อยู่ภายใต้การรับประกัน
– การเรียกร้องคำขอโทษจากบริษัทอย่างไม่สมเหตุสมผลหรือความต้องการลงโทษผู้คน
– พฤติกรรมที่ยืดเวลาที่ใช้ไป เช่น ร้องขอหรือร้องเรียนซ้ำๆ กันมากเกินไป
– ใส่ร้ายบนโซเชียลมีเดียหรืออินเทอร์เน็ต
กล่าวโดยสรุปว่าหากคุณไปใช้การบริการลูกค้าของ Nintendo ที่ญี่ปุ่น แล้วทำตัวเหมือนคนงี่เง่า พวกเขาจะปฏิเสธสิ่งที่คุณต้องการและในกรณีที่ร้ายแรงกว่านั้นถึงกับโทรหาตำรวจหรือติดต่อทนายความเลยในบางกรณี
นอกจากนี้ Nintendo ไม่ได้ยกตัวอย่างพฤติกรรมการล่วงละเมิดลูกค้าเหล่านี้มาลอยๆ ส่วนใหญ่เป็นถ้อยคำที่ถูกระบุในคู่มือของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่นที่จัดทำแบบสำรวจในวงกว้างของธุรกิจญี่ปุ่นปี 2020 ในหัวข้อนี้
▼ คู่มือการจัดการล่วงละเมิดลูกค้าอย่างเป็นทางการ กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ
กระทรวงพบว่าในขณะที่การล่วงละเมิดทางอำนาจ และการล่วงละเมิดทางเพศยังคงเป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในสถานที่ทำงาน แต่ผู้ตอบแบบสำรวจกลับบอกว่าปัญหาเหล่านี้ถูกให้ความสำคัญลดน้อยลง อย่างไรก็ตาม การคุกคามจากลูกค้าเป็นรูปแบบเดียวของการคุกคามที่เพิ่มขึ้นในเรื่อยๆ ช่วงสามปีที่ผ่านมา
ตัวอย่างของการล่วงละเมิดของลูกค้าที่ได้รับจากการสำรวจยังคล้ายกับพฤติกรรมที่ Nintendo โพสต์ เช่น การใส่ร้ายทางโซเชียลมีเดีย การคุกคาม และการใช้เวลานานเกินไปของตัวแทนบริการ อย่างไรก็ตาม ยังมีรูปแบบอื่นๆ อีก เช่น การสะกดรอยตามพนักงาน การเรียกร้องให้สวมหรือถอดหน้ากากเพื่อดูหน้าพนักงาน การเข้าไปในสำนักงานส่วนตัว และการเรียกร้องให้พนักงานทำ dogeza ซึ่งเป็นคำภาษาญี่ปุ่นหมายถึงการกราบขอโทษ
รายงานความยาว 60 หน้าที่เป็นประโยชน์ยังระบุด้วยว่าพฤติกรรมนี้อาจจัดอยู่ในการละเมิดกฎหมายด้วย เช่น การทำร้ายร่างกาย การขู่กรรโชก และมีบทลงโทษทางกฎหมายสำหรับผู้กระทำผิดด้วย เห็นได้ชัดว่า Nintendo ยอมเสียเวลาเพียงเล็กน้อยในการปรับตัวเข้ากับแนวทางใหม่เหล่านี้ เหตุเพราะว่าในอดีตมีพฤติกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นจริง และเพื่อการมีสุขภาพจิตที่ดีของพนักงาน
ความเชื่อเดิมๆ ที่ว่า ” ลูกค้าคือพระเจ้า ” คงจะค่อยๆ หมดไป และไปถึงขั้นการปฏิเสธการให้บริการในอนาคต เมื่อเลยจุดที่มนุษย์ต้องยอมเสียสละเพื่อเอาใจพระเจ้าผู้โกรธเคืองแล้วก็เป็นเวลาที่ดีที่จะเปลี่ยนศาสนาเลือกพระเจ้าองค์ใหม่