รีวิวเกม

[รีวิว] The Last of Us: Part I ปฐมบทแห่งมหานครสวรรค์สาป

บทแรกแห่งเรื่องราวการเอาตัวรอดในโลกที่เต็มไปด้วยเชื้อราสุดสยอง

หมายเหตุ: ตัวเกมที่ใช้ในการทดสอบมีการเปิดโหมดแสดงผลรูปแบบ Performance เพื่อหวังผลเฟรมเรตที่ 60FPS และใช้งานบนหน้าจอความละเอียด 1080p ประสบการณ์ด้านกราฟิกที่ได้รับอาจมีความแตกต่างกัน

ในทุกๆ วันไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับโลกใบนี้เหมือนกับเหล่าตัวเอกจากเกม The Last of Us ที่อยู่ๆ ก็ต้องเปลี่ยนแนวทางการดำเนินชีวิตจากคนปกติทั่วไปมาเข้าสู่ด้านมืดหลังจากเกิดเหตุการณ์เชื้อระบาดครั้งใหญ่ และด้วยเทคนิคการเล่าเรื่องที่แพรวพราวก็ทำให้ในปี 2013 เกมก็ถูกเสนอชื่อเป็นสุดยอดเกมแห่งปีเกมแรกของ Naughty Dog ท่ามกลางคำชมมากมาย ก่อนจะสานต่อความสำเร็จกันในภาคต่อมาเมื่อปี 2020 ที่ชิงรางวัลสาขาเดียวกันซ้อน

ถึงแม้ว่าเกมจะถูกรีมาสเตอร์ไปอย่างเป็นทางการตั้งแต่หลายปีก่อน แต่การมาถึงของ The Last of Us: Part II ที่ยกเครื่องเกมเพลย์และกราฟิกใหม่ชนิดที่ว่าหมดจดดูสมจริงกว่าเดิมก็ทำให้ผู้เล่นหลายคนอดคิดถึงและอดจินตนาการไม่ได้ว่าถ้าเกมถูกนำมาพัฒนาด้วยเอนจิ้นที่ทันสมัยแล้วจะเป็นอย่างไร และดูเหมือน Naughty Dog จะสนองความต้องการแฟนๆ โดยไม่ต้องเรียกร้องด้วยการเปิดตัว The Last of Us: Part I ที่เป็นการพัฒนาเกมขึ้นมาใหม่อย่างเป็นทางการ ซึ่งในบทความนี้ทางทีม ก็ได้รับโอกาสจาก Sony Interactive Entertainment ในการรีวิวตัวเกมเพื่อนำความประทับใจมาฝากกันด้วย แต่จะเป็นอย่างไรบ้างนั้น มีความเหมือนหรือแตกต่างอย่างไร ขอเชิญติดตามกันได้เลย

【นำทางสู่มหานครสวรรค์สาป】

เรื่องราวของ The Last of Us: Part I นั้นคงไม่ต้องเกริ่นนำอะไรมากเพราะเกริ่นไปแล้วข้างต้น (ฮา) ซึ่งเหตุการณ์ก็มีอยู่ว่า Joel หนุ่มใหญ่ที่เคยใช้ชีวิตธรรมดาทั่วไปกลับพบกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ไปตลอดกาลเมื่อเกิดเหตุการณ์เชื้อรานรกที่ทำให้ผู้ติดเชื้อทุกคนต่างคุ้มคลั่ง กระทั่งสถานการณ์เลวร้ายลงทั่วโลก กฎอัยการศึกจึงไม่มีผลใดๆ อีกต่อไป และในเวลาไม่นานสังคมมนุษย์จึงจบสิ้นลงจนแทบจะเต็มรูปแบบ เหลือเพียงแค่คนธรรมดาที่ยังรอดชีวิตและแตกซ่านกระเซ็นไปตามชุมชนต่างๆ, กลุ่มทหารที่คอยดูความเรียบร้อย และผู้ติดเชื้อ ซึ่ง Joel ได้จับพลัดจับผลูให้มาเป็นคนนำทางเด็กสาว Ellie ไปส่งยังค่ายของกองกำลัง Firefly ที่เป็นกลุ่มต่อต้านทหารด้วยความเชื่อที่ว่าเธอเป็นกุญแจสำคัญสำหรับการทำวัคซีน และจุดประกายหวังแห่งเหมือนไฟของหิ่งห้อยขึ้นมาท่ามกลางความมืดมิดที่ดูไม่รู้จะเห็นจุดจบที่ตรงไหน

ตลอดระยะเวลาในการเดินทางเราจะเห็นว่า Joel และ Ellie ต่างมีความสัมพันธ์ที่พัฒนาขึ้นไปตามลำดับเมื่อต้องเจอกับเหตุการณ์ท้าตายกันหลายต่อหลายครั้ง จากความกระด้างที่ Joel สั่งสมจากปมแห่งการสูญเสียเริ่มถูก Ellie กระเทาะด้วยความเดียงสาตามประสาสาววัยกำดัด (แม้จะปากแซ่บตั้งแต่ตอนเด็กๆ) และขณะเดียวกัน Ellie เองก็เริ่มที่จะเรียนรู้ในการเก็บอารมณ์ มีเหตุมีผลขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกับพ่อที่สอนลูกสาวให้โตสู่วัยผู้ใหญ่ ความสัมพันธ์เหล่านี้จะกลับมาเบ่งบานให้เราได้เชยชมอีกครั้งด้วยการถ่ายทอดที่สมจริงกว่าที่เคย จุดนี้ต้องชื่นชมจริงๆ สีหน้าแววตาได้มีการปรับปรุงจากเดิมบนเครื่องเล่น PlayStation 3 – 4 ส่วนตัวมองว่าเป็นอะไรที่ไม่สามารถอธิบายด้วยคำพูดได้เพราะเป็นอารมณ์ที่จะได้รับจากการชม เอาเป็นว่าจะความรู้สึกให้แตกต่างจากเดิมบ้างเหมือนกัน

หมอกควันแบบใหม่จากเจ้าโบลเตอร์สุดอันตราย!

โมเดลคุณภาพสูงเทียบเท่ากับภาคสอง

ในส่วนของตึกรามบ้านช่องและเอฟเฟกต์ต่างๆ ที่เพิ่มเข้ามาอาจจะไม่ได้เด่นมากเท่าไรนัก แต่ก็เห็นความแปลกใหม่อยู่บ้างเหมือนกันเช่นแสงที่ทอผ่านหน้าต่างเข้ามา หรือจะเป็นเอฟเฟกต์หมอกควันในเขตกักกันช่วงต้นเกม ทำให้เราพอเห็นว่าเมืองนี้ไม่ได้ดูเป็นเมืองร้างที่น่าหดหู่เหมือนภาคแรกที่จะดูทึมๆ แม้ว่าสีจะสดกว่าภาครีเมค (เดี๋ยวเล่าอีกที) พอมีควันมีอะไรขึ้นมามันก็เหมือนว่ามีร่องรอยการอาศัยของมนุษย์มากขึ้นไปตามๆ กัน ในขณะที่ฉากป่าไม้ที่จะเป็นสถานที่ที่เราเห็นบ่อยๆ ในเกมก็ถูกเรนเดอร์ต้นไม้ใบหญ้าขึ้นใหม่ให้ดูทัดเทียมกับภาคสองมากขึ้น และยังมีแอ่งน้ำที่อาจเห็นตะไคร่ขยับไปมาเวลาเราเดินบนน้ำ ตรงนี้ดึงมาจากภาคสองเป๊ะๆ

【เกมเพลย์】

ในเรื่องของเกมเพลย์ แม้ว่ามีการรีเมคใหม่โดยใช้ภาคสองเป็นต้นแบบ จะพบว่ามีการอิงไปในทางภาคแรกแบบต้นฉบับอยู่ดีด้วยความเร็วของตัวละคร ความคล่องตัวและแอ็กชั่นต่างๆ ที่ไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิมมากนัก แต่สิ่งที่เพิ่มเข้ามานะครับจะเป็นเรื่องการโต้ตอบกับสภาพแวดล้อมรอบข้าง ยกตัวอย่างเช่นบานกระจกบางจุดจะสามารถทำลายให้แตกได้หรือว่าเสาที่โดนยิงจนกร่อนเป็นรอยได้เป็นต้น นอกจากนี้การปรับแต่งอาวุธก็ใช้อนิเมชั่นคล้ายๆ กับภาคสองคือเดินไปตามจุดโต๊ะเครื่องมือแล้วกล้องจะแพนมาให้เราเห็น Joel งัดแงะแกะเกาอาวุธนั่นเอง

ถัดมาที่เรื่องของ AI ศัตรูพบว่ามีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากเดิมและคล้ายกับเกมภาคสองนั่นคือศัตรูจะมีความฉลาดในการมองหาตัวละครเราและรู้จักการโต้ตอบกับวิธีการต่อสู้มากขึ้น เราอาจจะเห็นพวกมันตะโกนให้ระวังหลังหรือว่าลอบซุ่มโจมตีต่างๆ เช่นเดียวกับการตอบสนองเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่ดีเช่นเดินๆ มาแล้วเจอศพเพื่อนตัวเองนอนตายอยู่ก็จะเริ่มส่งสัญญาณให้ทุกคนระวังตัวเป็นต้น ในส่วนของ Clicker นั้นแม้ว่าผิวเผินจะไม่เปลี่ยนไปมากนัก ทว่าเราจะสังเกตเห็นรูปแบบโจมตีใหม่นั่นคือการคลานเป็นระยะสั้นๆ หลังจากโดนโจมตีจนตัวขาด

【กราฟิกและฟังก์ชั่น】

ส่วนที่ดีที่สุดของเกมคงหนีไม่พ้นเรื่องกราฟิกเพราะอย่างที่บอกไปว่าได้โมเดลความละเอียดสูงมาร่วมถ่ายทอดอารมณ์ผ่านการประมวลผลที่ดียิ่งขึ้นทำให้สำบัดสำนวนใดๆ จากปากตัวละครดูดีตามมาตรฐานขึ้นมา ‘บ้าง’ เวลาอยู่ในคัตซีน โทนสีของฉากเองก็จะไม่ได้ Saturation สูงจนสีสดแล้วเพราะอิงมากับภาคสองที่ดูดิบ สมจริงขึ้น ซึ่งโมเดลตัวละครหลักทั้งหมดได้รับการแก้ไขให้พัฒนาแบบเห็นได้ชัด และเกมเพลย์ในโหมด Performance เองก็ลื่นไหลไม่มีจุดกระตุกเลยครับ ส่วนรูปแบบ Fidelity นั้นจากที่สังเกตก็คือภาพจะอยู่ที่ 30FPS เท่ากับ The Last of Us: Part II และมีการเพิ่มเอฟเฟกต์บนน้ำกับความละเอียดให้คมชัดขึ้น แต่เรื่องแสงเงาเหมือนกัน ตบท้ายกับเสียงพากย์ยังคงใช้เซ็ตเดิมครับ

ฟังก์ชั่นที่เพิ่มเข้ามาอีกอย่างจะเป็นเรื่องของ 3D Audio และ DualSense ที่ทำได้ดีเหมือนกับแพตช์ภาคสอง ผู้เล่นจะสัมผัสได้ถึงแรงต้านจากการเหนี่ยวไกปืนที่ต่างกันและฟินมืออยู่ไม่น้อย รวมไปถึงสายคันธนูที่เหมือนจะตึงเปรี๊ยะเมื่อราวง้างจนสุด แต่กระนั้นดูเหมือนว่าจะไม่ได้ดึงพลัง SSD ความเร็วสูงของ PlayStation 5 มาได้ดีเท่าไรนักเพราะว่าดันมีฉากโหลดขึ้นอยู่บ่อย ไม่ได้ตัดไปมาเร็วๆ แบบที่เห็นในเกมอื่นของเครือ PlayStation Studios นอกจากนี้ก็จะเป็นโหมดการเล่นเสริมจากภาคสองเช่น Permadeath และเมนูสำหรับสายวิ่ง Speedrun

【ก้าวไม่พ้นข้อติ】

น่าเสียดายที่การรีเมคครั้งนี้เราจะเรียกว่าเพลย์เซฟก็ไม่ถูกเพราะถ้าว่ากันตามตรงนอกเหนือจากกราฟิกกับสีหน้าตัวละครที่ดีมากขึ้นในคัตซีนแล้ว พอตอนเล่นจริงผมกลับไม่รู้สึกว่ามันเป็นเกมที่พลิกโฉมหรือสร้างมาตรฐานโดยรวมใหม่ขนาดนั้น ครั้นจะว่าเป็นการนำเอนจิ้นของ The Last of Us: Part II มาครอบก็แยกแทบไม่ออกเพราะว่าจังหวะการเล่าเรื่องทุกอย่างเหมือนเดิมหมด มันเลยกลายเป็นเหมือนว่าเราเล่นเกมจากยุค PlayStation 3 ที่ภาพสวยขึ้นมาแค่นั้น แต่จะหาความแตกต่างของเนื้อเรื่อง การเล่าเรื่องแบบใหม่ อะไรแบบนี้ไม่เจอเลย เพราะอย่างที่บอกคือเสียงเซ็ตเดิม มุมกล้องก็แทบจะเหมือนเดิมแบบ 1:1 และเกมเพลย์ ของปลดล็อกที่แซมๆ เข้ามามันไม่เพียงพอที่จะเพิ่มมิติการเล่นให้ได้มากเท่าไร

【ภาษาไทย】

เช่นเดียวกับภาคสอง The Last of Us: Part I ได้รับการแปลภาษาไทยในส่วนของเมนูและคำบรรยายด้วย ซึ่งการแปลอยู่ในเกณฑ์ที่โอเคดีเลยครับ มีการใส่อารมณ์คำหยาบแบบภาคสองเหมือนเดิม (ฮา) แม้ว่าในบางจุดดูเหมือนว่าจะมีการแปลที่ผิดบริบทไปบ้างอย่างตัวอย่างเช่นฉากที่ Ellie หยิบหนังสือโป๊ผู้ชายมาแล้วแซวว่าทำไมคนสองคนถึงเอา ‘ส่วนนั้น’ มาชิดกัน (ปิดตาไว้นะเด็กๆ!) แต่กลับแปลออกมาว่าทำไมหน้าของหนังสือติดกัน ตรงนี้พอเข้าใจได้ว่าระหว่างแปลอาจจะไม่เห็นภาพของเกม และยังมีบางจุดที่พยัญชนะตกบรรทัด คาดว่าเป็นเรื่องที่เหนือการควบคุม และไม่ได้ส่งผลต่อคุณภาพของเกม อีกทั้งไม่เจอบ่อยขนาดนั้นเฉลี่ยสักสองชั่วโมงอาจเจอจุดนึง ไม่ได้เป็นอะไรน่ารำคาญหรือมีผลต่อการประเมินคะแนนในหัวผู้รีวิวแต่อย่างใด 

【บทสรุป】

The Last of Us: Part I อยู่ห่างไกลจากคำว่าการกลับมาครั้งยิ่งใหญ่และทำให้ผมแอบสงสัยกับคำเปรยที่่ว่า Rebuilt from Ground-up ไม่น้อยเพราะกรอบใหม่ของเกมที่ครอบอยู่นั้นไม่อาจทำให้เรารู้สึกว่ามันเป็นประสบการณ์แบบเน็กซ์เจ็นเต็มรูปแบบเท่าที่ควร แต่อีกมุมหนึ่งถ้าเราพยายามคิดว่า Naughty Dog ต้องการให้คนเล่น Part I (เวอร์ชั่นรีเมค) ก่อน Part II ก็จะถือว่าสอบผ่านละกัน เพียงแต่ราคาเริ่มต้นวางจำหน่ายนั้นอาจจะไม่เป็นมิตรเท่าไร น่ากังวลอยู่ไม่น้อยครับว่าแฟนๆ อาจจะเลือกไปเล่นภาครีมาสเตอร์ที่มีราคาถูกกว่าแทน คอนเทนต์ก็มีทั้งตัวหลักและ Left Behind เหมือนกัน กระนั้นแล้วคุณภาพโดยรวมถือว่าเป็นเกมพรีเมียมที่ดีเกมหนึ่ง แค่อาจจะไม่เหมาะกับคนที่คาดหวังสูงว่าจะได้มาตรฐานเทียบเท่ากับภาคสองที่กลบจุดด้อยความน่ารำคาญในภาคแรกต้นฉบับเท่านั้นเอง

ท้ายที่สุดพวกเราก็ขอขอบคุณ Sony Interactive Entertainment สำหรับโอกาสในการรีวิวเกมอีกครั้ง ซึ่งเพื่อนๆ คนไหนที่อยากย้อนกลับมาประทับใจกับความสัมพันธ์ของ Joel และ Ellie ในรูปแบบสดใหม่ ก็ขอเชิญติดตามกันได้บนเครื่องเล่น PlayStation 5 ในวันที่ 2 กันยายนนี้ โดยในอนาคตก็จะมีการพอร์ตสู่ PC ด้วยเช่นกัน 

Now Loading

ชอบเพลง Metal | บันเทิงกับการถ่ายรูป | ของโปรดคือเนื้อย่าง | เล่นเกมบ้างบางเวลา
Back to top button

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save