รีวิวเทคโนโลยี

[รีวิว] Lenovo Legion Slim 5i Gen 8

โน๊ตบุ๊คที่ตอบโจทย์ทั้งสายเกมเมอร์และครีเอเตอร์ในเครื่องเดียว

ผู้เขียน : Artherlus

โน๊ตบุ๊คสำหรับการเล่นเกมในปัจจุบันถือว่าอยู่ในจุดอิ่มตัวไม่น้อย เรามักจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของสเปคที่อาจไม่ตอบโจทย์กับราคาที่ต้องจ่ายไป ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจหากเราจะเลือกเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คสักรุ่นแต่จะดูจากข้อดีอื่นแทน หนึ่งในสิ่งที่ต้องนำมาพิจารณาคงหนีไม่พ้นเรื่องของขนาดและน้ำหนักของตัวเครื่อง ซึ่งถ้าใครกำลังคิดถึงปัจจัยดังกล่าวเราจะแนะนำให้รู้จักกับ Lenovo Legion Slim 5i Gen 8 ที่ชื่อก็บอกแล้วว่าชูจุดเด่นในเรื่องของความบาง แต่จะมีอะไรที่น่าสนใจอีกบ้างเราไปหาคำตอบกัน

หากใครที่ผ่านตากับโน๊ตบุ๊คตระกูล Legion ของทาง Lenovo มาก่อนก็ต้องบอกว่า Lenovo Legion Slim 5i Gen 8 มีการนำดีไซน์ที่มีอยู่มาใช้งานเกือบทั้งหมด อย่างไรก็ตามมีส่วนประกอบบางอย่างที่ถูกปรับแต่งให้เหมาะสมกับตัวเครื่องโดยเฉพาะงานประกอบที่ยังคงทำได้ดี แข็งแรง แน่นในทุกจุด

ผิวสัมผัสรอบเครื่องแม้ว่าจะใช้งานวัสดุเป็นพลาสติกแต่ไม่รู้สึกว่าความน่าใช้งานลดลง เมื่อเราปิดหน้าจอลงมาจะพบว่าพื้นที่ของหน้าจอกับตัวเครื่องไม่ได้แนบสนิท แต่จะมีส่วนที่เป็นขอบยื่นออกมาเล็กน้อย

ด้วยขนาดที่บางลงส่งผลให้น้ำหนักของตัวเครื่องอยู่ที่ 2.3 กิโลกรัมเท่านั้น พร้อมกับความบาง 19.7 มิลลิเมตร แม้จะดูเหมือนมีน้ำหนักที่มากแต่หากเทียบกับขนาดของหน้าจอตัวเครื่องที่มีขนาด 16 นิ้ว เชื่อเหลือเกินว่าหาตัวจับได้อยากในตลาดที่จะได้ตัวเลขระดับนี้

ด้านล่างของตัวเครื่องมีส่วนที่เป็นยางที่จะช่วยทำให้เวลาใช้งานตัวเครื่องไม่มีการเลื่อนแบบไม่ได้ตั้งใจ และด้วยขนาดหน้าจอที่ใหญ่ระดับนี้ทำให้เราสามารถพูดได้ว่าผู้ที่ซื้อตัวเครื่องไปต้องมีพื้นที่ที่ใช้สำหรับการวางตัวเครื่องใช้งานเป็นหลักโดยเฉพาะ ขณะที่เรื่องพกพาไปใช้งานที่อื่นถือว่าเป็นการใช้งานรองลงมา

การที่มีพื้นผิวด้านล่างของตัวเครื่องเป็นยางและทำเป็นระดับทำให้เราได้รับข้อดีเวลาใช้งานแบบวางบนตัก ส่งผลให้ตัวเครื่องไม่เลื่อนลงมาสู่ตัวของเรา

แม้ว่าจะมีคำว่า Slim อยู่ในชื่อ แต่ Lenovo Legion Slim 5i Gen 8 ไม่ได้ตัดพอร์ตการใช้งานที่จำเป็นและหาได้จากเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คแต่อย่างใด ที่ด้านซ้ายของตัวเครื่องมาพร้อมกับ USB-C 3.2 Gen 2 รองรับการใช้งาน DisplayPort 1.4 พร้อมกับการจ่ายพลังงาน 140W อีกพอร์ตคือรูหูฟัง 3.5 มิลลิเมตร

ด้านขวามือมาพร้อมกับความพิเศษสำหรับสายครีเอเตอร์โดยเฉพาะ เนื่องจากรองรับการใช้งาน SD Card แบบเต็มระบบ ขณะที่อีกส่วนเป็นเรื่องของปุ่มสำหรับเปิดและปิดกล้องบนหน้าจอ

ด้านหลังของตัวเครื่องมีพอร์ตการใช้งานแบบจัดเต็มไล่เรียงกันไปด้วยพอร์ต Power สำหรับการให้พลังงานกับตัวเครื่อง HDMI 2.1 ตามมาด้วย RJ-45 และ USB-A 3.2 Gen 2

ด้วยการย้ายพอร์ตสำหรับการเชื่อมต่อที่ต้องใช้งานสายไปไว้ด้านหลัง ทำให้เมื่อเราใช้งานบนโต๊ะจะพบกับความง่ายในการจัดสายเป็นอย่างมาก ซึ่งหาได้ยากจากเกมมิ่งโน๊ตบุ๊ครุ่นอื่นที่มักจะให้พอร์ตมาเยอะจริงแต่อยู่ที่ด้านข้างของเครื่องตามปกติ อย่างไรก็ตามหากใครที่ไม่สนใจในส่วนของสาย RJ-45 ตัวเครื่องก็รองรับการเชื่อมต่อ Wi-Fi 6E สุดแรง

เรื่องของคีย์บอร์ดตัวเครื่องใช้งาน Legion TrueStrike ที่มีระยะปุ่มกด 1.5 มิลลิเมตรที่ง่ายต่อการใช้งาน พร้อมกับการแสดงผลไฟ RGB ที่แยกโซนแสดงผลได้ถึง 4 โซน พร้อมกับการปรับแต่งที่ทำได้ผ่านซอฟต์แวร์ในตัวรองรับการใช้งานมาโคร รวมไปถึงฟีเจอร์เกี่ยวกับการเล่นเกมเช่น anti-ghosting

เหนือคีย์บอร์ดเป็นพื้นที่การใช้งานของลำโพงตัวเครื่องใช้งานระบบเสียง Nahimic® Audio ที่พัฒนาขึ้นโดย SteelSeries มั่นใจได้ว่าคุณภาพเสียงจะไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวล นอกจากนี้ลำโพงอีกสองตัวจะอยู่ที่ขอบด้านล่างทั้งสองข้างของตัวเครื่อง ส่งผลให้มีมิติของเสียงที่เราจะได้

หน้าขอของตัวเครื่องสามารถที่จะกางได้สุด 180 องศา ในแง่ของการเล่นเกมอาจไม่ได้ตอบโจทย์มากนัก แต่สำหรับสายครีเอเตอร์ถือว่าเป็นสิ่งที่ควรจะมีอย่างยิ่ง

นอกจากจอที่สามารถกางได้เป็นแนวราบแล้ว ขอบจอทั้ง 4 ด้านยังถือว่ามีความบางในระดับที่น่าพึงพอใจ แม้จะไม่ได้อยู่ในระดับที่เรียกว่าไร้ขอบแต่ด้วยขนาดหน้าจอ 16 นิ้ว ถือว่ามีพื้นที่การแสดงผลเต็มตา ประกอบกับจอรองรับการแสดงผลแบบ 165Hz ทำให้ไม่พบปัญหาภาพขาดให้เห็น

กล้องที่ติดมากับตัวเครื่องมีความละเอียดอยู่ที่ 1080p อย่างไรก็ตามคุณภาพการใช้งานจริงอาจจะไม่ได้รู้สึกถึงความต่างจาก 720p มากนัก ในภาพรวมอยู่ในระดับที่ใช้งานได้แต่อาจไม่ได้เหมาะกับการใช้งานแบบจริงจังในระดับมืออาชีพ

มาพูดกันถึงเรื่องของประสบการณ์ใช้งานกันบ้าง สิ่งแรกที่สัมผัสได้คงหนีไม่พ้นการพิมพ์ที่สนุก ระยะห่างระหว่างปุ่มกดและการตอบสนองทำได้เหมือนกับคีย์บอร์ดสำหรับการเล่นเกม แต่ถูกจำกัดเรื่องของเสียงให้เงียบ สามารถที่จะพิมพ์ได้ต่อเนื่องโดยที่ไม่มีการส่งเสียงรบกวนคนรอบข้างหากนำไปใช้งานตามที่ต่าง ๆ เรื่องที่ทำให้ประหลาดใจเป็นเรื่องของ Trackpad ที่เสียงกดค่อนข้างที่จะบอบบางและดูไม่สมกับภาพลักษณ์ตัวเครื่องเท่าไหร่นัก อย่างไรก็ตามนอกจากเรื่องของเสียงในแง่ของฟีเจอร์การทำงานถือว่าสอบผ่านอย่างไม่มีปัญหา

หน้าจอแสดงผลของ Lenovo Legion Slim 5i Gen 8 เป็นจุดขายหลักของตัวเครื่อง ความสว่างที่ปรับใช้งานได้กับทุกสถานการณ์ หน้าจอแบบ anti-glare ช่วยให้เราได้มุมมองที่ชัดยิ่งขึ้นเวลาต้องทำงานในที่เปิดโล่ง รวมไปถึงค่า refresh rate 165Hz ส่งผลให้เห็นรายละเอียดทุกอย่างดียิ่งขึ้น ขณะที่ขอบเขตของสีเป็นแบบ sRGB 100% ด้วยตัวเลขเพียงเท่านี้ก็พอจะบอกได้แล้วว่าช่วยให้การเล่นเกมและความบันเทิงไร้กังวลเพียงใด (สำหรับสเปคขายจริงเราจะได้หน้าจอในระดับที่สามารถแสดงผลได้ 240Hz)

ในแง่ของซอฟต์แวร์ที่ติดมากับตัวเครื่องมาพร้อมกับสิ่งที่ช่วยให้เราสามารถรู้สถานะและอัปเดตระบบได้ในตัวอย่าง Lenovo Vantage ที่จะช่วยเราในการจัดการระบบของตัวเครื่องไม่ว่าจะเป็นการทำงานของซีพียู พัดลม หรือจะเป็นการเลือกโหมดการทำงานกราฟิกที่แยกระหว่างออนซีพียูกับชิปกราฟิกแยก อีกทั้งยังมาพร้อมกับ Nahimic ที่ช่วยในการจัดการเรื่องระบบเสียงทั้งหมดของตัวเครื่อง

ใครที่ชอบปรับแต่งโทนสีการแสดงผลของหน้าจอจะต้องชอบ X-Rite Color Assistant ซึ่งจะช่วยในเรื่องของการตั้งค่าโทนสีของหน้าจอ ให้เหมาะสมกับประเภทงานที่ใช้ เกมเมอร์อาจไม่ได้ยุ่งเกี่ยวมากนัก แต่สำหรับครีเอเตอร์ที่ต้องการความถูกต้องของสีจำเป็นอย่างมากที่จะต้องการแสดงผลของหน้าจอที่ถูกต้อง

ส่วนสายเกมเมอร์มี Legion Arena ที่ช่วยในการปรับแต่งเกมให้เหมาะสมกับการเล่นได้ ซึ่งหากถามว่าซอฟต์แวร์ใดไม่ได้เหมาะกับการติดตั้งมากที่สุดอาจจะเป็นตัวนี้ก็เป็นได้ เนื่องจากเราสามารถใช้งานซอฟต์แวร์ของการ์ดจอแยกอย่าง NVIDIA ได้เช่นกัน

สำหรับสเปคของตัวเครื่องที่เราได้มาทดสอบในครั้งนี้กับเครื่องที่จะวางจำหน่ายจริงจะมีสเปคที่แตกต่างกันเล็กน้อย ตัวเครื่องที่เราได้มาทดสอบจะประกอบไปด้วยซีพียู Intel i7-13700H ในส่วนนี้จะเหมือนกัน สิ่งที่แตกต่างกันคือเรื่องของชิปกราฟิกสเปคที่เราทดสอบคือ RTX 4050 ส่วนสเปคจำหน่ายจริงจะใช้งานเป็น RTX 4060 ขณะที่แรมและที่เก็บข้อมูลเป็นแบบเดียวกันคือ 16GB และ 512GB แบบ NVMe M.2 2280 ถือว่าเป็นสเปคระดับกลางค่อนไปทางสูง

เรามาดูการทดสอบทั้งในส่วนของการเล่นเกมและประสิทธิภาพโดยรวมของตัวเครื่องกันเลย

จากผลการทดสอบในแง่ของประสิทธิภาพการทำงานในภาพรวมถือว่าน่าประทับใจ ด้วยความที่ตัวเครื่องมาพร้อมกับการใช้งานซีพียูตัวแรงระดับบนของการทำงานและเล่นเกม ทำให้วางใจได้ในเรื่องของการใช้งานจริง ขณะที่ในด้านกราฟิกแม้สเปคที่ได้มาจะเป็น RTX 4050 ก็ให้ผลลัพธ์ที่น่าประทับใจ ฉะนั้นในเครื่องที่วางจำหน่ายจริงที่มีการใช้งาน RTX 4060 สามารถที่จะวางใจในเรื่องประสิทธิภาพที่จะดีขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์ได้ไม่ยาก

ขณะที่การเล่นเกมในการทดสอบเราได้ลองใช้เล่นในเกมอย่าง Death Stranding, Grand Theft Auto V และ HITMAN ซึ่งเราตั้งค่าความละเอียดของหน้าจอที่ 1920 x 1200 พิกเซล ถามว่าทำไมถึงเลือกความละเอียดนี้เนื่องจากหน้าจอของเครื่องมีอัตราการแสดงผลแบบ 16:10 ทำให้หากเราเลือกความละเอียดดังกล่าวจะได้ภาพที่มีสเกลภาพเหมาะสมที่สุดกว่า 1080p และในตัวเลือกการตั้งค่าภาพภายในเกมตั้งสูงสุดที่มีให้เลือก พร้อมเปิดใช้งานระบบที่มีให้ครบ ถือว่าทำเฟรมเรทได้ดีในการใช้งาน และเช่นเคยหากเปลี่ยนเป็น RTX 4060 ตัวเลขจะไม่ต่ำไปกว่าที่เราได้ทดสอบแน่นอน

ในการทดสอบความทนทานของแบตเตอรี่เป็นอะไรที่ค่อนข้างจะแตกต่างแล้วแต่การใช้งาน จากที่ทดสอบหากทำการใช้งานโดยเปิดความสว่างราว 30 เปอร์เซ็นต์ ใช้งานผ่านสัญญาณ Wi-Fi และปิดไฟที่คีย์บอร์ด พร้อมเล่นเกมตลอดเวลา พบว่าแบตเตอรี่สามารถที่จะใช้งานได้ราว 3 ชั่วโมง แต่หากเป็นการใช้งานร่วมกับสิ่งอื่นไม่ได้เปิดใช้งานหนักตลอด สามารถที่จะอยู่ได้เกิน 5 ชั่วโมงได้แบบไม่มีปัญหา

และแม้ว่าแบตเตอรี่จะหมดลงก็ไม่ต้องกังวลเนื่องจากตัวเครื่องมาพร้อมกับแบตเตอรี่ความจุ 80Wh รองรับการชาร์จไว ที่สามารถใช้งานชาร์จแบตเตอรี่เต็มได้ในเวลาเพียง 80 นาที ส่งผลให้เราไม่ต้องรอนาน

การระบายความร้อนของตัวเครื่องมาพร้อมกับระบบ Legion Coldfront 5.0 ส่งผลให้ไม่มีความร้อนสะสมเมื่อใช้งานเป็นเวลานาน เราสามารถที่จะนำมือไปจับส่วนต่าง ๆ ที่ใช้เวลาเล่นเกมได้โดยไม่รู้สึกว่าแตะต้องไม่ได้ ขณะเดียวกันหากเป็นการใช้งานทั่วไปเสียงการทำงานของพัดลมอยู่ในระดับที่เรียกได้ว่าเงียบ จนหากไม่บอกว่านี่คือเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คอาจไม่มีใครเชื่อ แต่เมื่อต้องใช้ระบบระบายความร้อนแบบเต็มรูปแบบ เสียงของพัดลมระบายความร้อนอยู่ในระดับที่ได้ยินได้ชัดเจนเช่นกัน

Lenovo Legion Slim 5i Gen 8 จัดว่าเป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คที่เกมเมอร์และครีเอเตอร์สามารถที่จะจับจองเป็นเจ้าของและสามารถใช้งานในระยะยาวได้โดยไม่มีปัญหา ด้วยขนาดของตัวเครื่องที่ค่อนข้างบาง รวมไปถึงระบบระบายความร้อนที่ทำได้อย่างยืดหยุ่นและชาญฉลาดในการรับมือทุกสถานการณ์ เรื่องประสิทธิภาพในเครื่องแรงอยู่แล้วไม่ต้องกล่าวถึงกันมากนัก การออกแบบตัวเครื่องที่คำนึงถึงการใช้งานทั้งสองด้านทั้งการทำงานและการเล่น ทำให้ได้ส่วนผสมที่ลงตัวของทุก ๆ องค์ประกอบที่อยู่ในเครื่องนี้ หากใครที่สนใจอยากให้ลองไปสัมผัสตัวจริงและสัมผัสกันก่อน ราคาวางจำหน่ายของเครื่องสเปคจริง i7-13700H + RTX 4060 พร้อมหน้าจอระดับ 2K 240Hz อยู่ที่ 57,990 บาท

ข้อดี

– ประสิทธิภาพโดยรวมของสเปคเครื่องอยู่ในระดับที่ใช้รับมือได้ในอีกหลายปี

– การออกแบบตัวเครื่องที่ทำให้ใช้งานได้ทั้งสายทำงานและเล่นเกม

– ขนาดของเครื่องมีความบางกว่ารุ่นอื่นหากเทียบในตลาดเดียวกัน

– หน้าจอ 2K พร้อมรองรับการแสดงผล 240Hz ส่งผลให้ได้รายละเอียดที่ครบถ้วน

– การวางตำแหน่งปุ่มคีย์บอร์ดทำออกมาได้ลงตัว พิมพ์สนุก แต่คงไว้ซึ่งความเงียบ

– จัดวางตำแหน่งพอร์ตการทำงานไว้ที่ด้านหลังส่งผลให้จัดสายได้ง่าย

– พอร์ตการใช้งานครบครัน

– มาพร้อมกับคีย์บอร์ดที่มีไฟ RGB แยก 4 โซน

– ระบบระบายความร้อนมีการปรับแต่งมาให้ทำงานได้ตอบโจทย์กับทุกสถานการณ์

– แบตเตอรี่ใช้งานได้นานและชาร์จไว

ข้อสังเกต

– การสลับโหมดการทำงานระหว่างกราฟิกในตัวกับกราฟิกแยกยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ในบางครั้ง

– ความละเอียดของกล้องที่ติดมากับเครื่องอยู่ในระดับที่ธรรมดาจนเกินไป

– ที่เก็บข้อมูลแม้จะเร็วแต่มีเพียงแค่ 512GB ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน

สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณทาง Lenovo แห่งประเทศไทยที่ได้ทำการส่ง Lenovo Legion Slim 5i Gen 8 มาให้เราได้ทำการทดสอบใครที่สนใจสามารถหาซื้อได้แล้ววันนี้ตามช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ และร้านค้าไอทีชั้นนำทั่วไป

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมและสั่งซื้อได้ที่ : [คลิก]

Now Loading

ชอบเพลง Metal | บันเทิงกับการถ่ายรูป | ของโปรดคือเนื้อย่าง | เล่นเกมบ้างบางเวลา
Back to top button

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save