6 ช่วงเวลาของการเล่นเกมในสมัยก่อนที่หาได้ยากในยุคนี้
พูดแล้วก็แอบคิดถึง เป็นช่วงเวลาที่มีเสน่ห์ไม่น้อยเลย
เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงจะไม่ได้เริ่มเข้าวงการเกมในเร็ว ๆ นี้หรอกใช่ไหมครับ แต่ก็คงจะเล่นเกมมานาน หลายสิบปี หรือบางคนอาจจะเริ่มเล่นเกมตั้งแต่จำความได้เลยก็มี ในแต่ละยุคก็จะมีจุดเด่นแตกต่างกันไป เครื่องใหม่มาก็ฮิตกันไป มีเกมประจำยุคที่ต้องพูดถึงทุกครั้ง และแต่ละช่วงก็จะมีโมเมนต์แบบพิเศษที่มีแค่ยุคนี้เท่านั้นอยู่เหมือนกันครับ เราไปชมกันดีกว่าว่ามีโมเมนต์ไหนบ้างที่ในปัจจุบันนั้นหาได้ยากยิ่งแล้ว
1. การนั่งเล่นเกมกับเพื่อนที่ร้านเกม
ร้านเกมคือสถานที่สุดพิเศษของวัยรุ่นเกือบจะทุกคน ถ้าครอบครัวของคุณไม่ได้เข้มงวดมากก็เชื่อว่าน่าจะเคยเข้าไปสัมผัสบรรยากาศข้างในนั้นมาบ้างไม่มากก็น้อย บางคนนั้นถือเอาร้านเกมเป็นเซฟโซนของชีวิต เพราะถ้าเป็นร้านที่ดี เราก็จะสัมผัสได้ถึงความสนุกและความอบอุ่นไปพร้อม ๆ กัน มีเพื่อนที่เรารู้จัก เล่นเกมด้วยกัน เจ้าของร้านใจดี มีข้าวมีน้ำให้ซื้อกิน แถมยังได้จดจ่ออยู่กับสิ่งที่ชอบไปหลายชั่วโมง บางคนที่เรียกได้ว่าสิงร้านเกมตลอดเวลา ซึ่งการนั่งเล่นเกมกับเพื่อนที่ร้านนี้ในปัจจุบันก็แทบไม่มีแล้ว เพราะธุรกิจร้านเกมเองก็ปิดตัวลงไปแทบจะไม่มีให้เห็น รวมกับการที่ราคาคอมพิวเตอร์เองก็ถูกลงกว่าแต่ก่อนมาก ทุกคนมีคอมใช้ มีเน็ตเล่น มีโปรแกรมสื่อสารในออนไลน์ ความจำเป็นที่ต้องมาร้านเกมเลยลดน้อยลง แต่ถึงเราจะเล่นเกมกับเพื่อนแบบออนไลน์ได้ ความรู้สึกก็ค่อนข้างที่จะแตกต่างจากการนั่งเล่นเกมข้าง ๆ กันจริง ๆ ครับ
2. การเปลี่ยนแผ่นเกมเพื่อเล่นเนื้อเรื่องต่อ
ในยุคสมัยหนึ่งเกมจะถูกบรรจุลงแผ่นดิสก์ ซึ่งอาจจะเป็น CD หรือ DVD ก็ตามแต่เครื่องนั้น ๆ จะออกแบบมา แต่เกมบางเกมก็มีความยาวเกินความแผ่นเกมแผ่นหนึ่งจะบรรจุได้หมด โดยเฉพาะยุค PS1 ที่แผ่น CD จะบรรจุได้ประมาณ 600-700 MB เท่านั้น ซึ่งตัวเกม RPG บางเกมที่มีเนื้อเรื่องยาวนานที่ต้องเล่นหลายสิบชั่วโมงถึงจะจบ จำเป็นที่จะต้องใช้แผ่น CD หลายแผ่นตั้งแต่ 2-4 แผ่นเลยทีเดียว และช่วงรอยต่อระหว่างแผ่นก็จะมีหน้าคำสั่งให้เปลี่ยนดิสก์ To be continued มันเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของเกมยุคนั้นเลยที่มีการเปลี่ยนแผ่นเกมแต่ยังเป็นเกมเดิม มันให้ความรู้สึกเหมือนเราได้ก้าวไปข้างหน้า เราข้ามผ่านอีกหนึ่งจุดใหญ่ของเกมแล้วนะ สมัยยังเด็กการเล่นจบ 1 แผ่นเป็นอะไรที่น่ายินดีมาก ซึ่งในยุคนี้เกมต่าง ๆ ก็กลายมาเป็นแพลตฟอร์มโหลดออนไลน์กันหมดแล้ว
3. การพกเซฟติดตัวไปเล่นเกมที่อื่น
การเล่นเกมบางเกมนั้นไม่สามารถเล่นให้จบในวันเดียวได้ แต่ถ้าจะต้องอาศัยเซฟเกมจากร้านก็รู้สึกไม่ปลอดภัย กลัวว่าเซฟเราจะโดนลบหรือปู้ยี่ปู้ยำจากผู้เล่นคนอื่น แต่จะให้ซื้อเครื่องเกมหรือคอมมาไว้ที่บ้าน ณ ช่วงเวลานั้นก็แพงเกินไป ถ้าพ่อแม่ไม่ซื้อให้ก็คืออดเล่น แต่ยุคสมัยนั้นยังมีสิ่งที่เรียกว่า Memory Card สำหรับเครื่อง Console และ Floppy Disk สำหรับเครื่อง PC อยู่ มันคือไอเทมประจำตัวเกมเมอร์ในยุคนั้นที่นิยมไปเล่นเกมที่ร้าน แต่ไม่อยากแบ่งปันเซฟของตัวเองกับใคร ขอแค่ร้านนั้นมีเกมที่เราเล่น แต่เราก็สามารถโหลดเซฟของตัวเองเก็บไว้เล่นต่อที่ร้านไหนก็ได้ แถมราคายังเอื้อมถึง ไม่ต้องเสียเงินหลักพันหลักหมื่นเพื่อซื้อเครื่องไว้ที่บ้าน สมัยนั้นใครพกเซฟเกมติดตัวไปร้านจะเป็นอะไรที่เท่มาก เหมือนจอมยุทธ์ที่เดินเข้าร้านมาแล้วเซฟโคตรเทพ ซึ่งสมัยนี้ก็มีระบบ ID เกมหรือเซฟขึ้นคลาวด์กันหมดแล้ว
4. การซื้อนิตยสารเพื่อเอาแผ่นเกม
ย้อนกลับไปในยุคที่อินเทอร์เน็ตในบ้านเรายังไม่ได้เร็วมากเหมือนอย่างปัจจุบัน ความเร็วเน็ตบ้านแค่ 56k และบ้านไหนที่มี 256mb ก็ถือว่า Hi-Speed แล้ว ในยุคนั้นการโหลดเกมออนไลน์มาเล่นสักเกม หรือโหลดพวก Emu เกมต่าง ๆ ก็ยังทำได้ยาก เน็ตที่มีก็แรงพอแค่เชื่อมต่อเกม แต่โหลดเกมนาน 10 ชั่วโมงก็ไม่ไหว แถมเสี่ยงหลุดต้องโหลดใหม่ด้วย ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้จะถูกแก้ด้วยการไปซื้อนิตยสารเกมที่ร้านหนังสือ ซึ่งส่วนมากจะแถมแผ่นเกมติดมาด้วย เช่น ถ้าเราอยากเล่น Ragnarok Online เราก็แค่ซื้อหนังสือ RO มาสักเล่ม ก็จะได้แผ่นเกมพร้อมตัว Install แบบง่าย ๆ ไม่ต้องเสียเวลาโหลด หรือนิตยสารรวม Emu เกมบอส เกมแฟมมิค่อม และอื่น ๆ ก็หาซื้อได้จากนิตยสารรวมเกมเช่นเดียวกัน ส่วนยุคนี้ก็มีให้หาซื้อกันในร้านค้า และเน็ตบ้านเราก็แรงขึ้นจนโหลดไม่ถึง 10 นาทีก็ได้เล่นแล้วครับ
5. การได้เจอดาราในเกมออนไลน์
เกมออนไลน์ในยุคก่อน โดยเฉพาะเกมแนว MMORPG ที่มีตัวละครไปเดินเล่นในเกมได้ ผู้เล่นอย่างเราจะมีความคาดหวังที่จะได้เจอดาราประจำเกมนั้น ๆ เพราะดาราต่าง ๆ ในเกมออนไลน์จะทำหน้าที่คล้าย ๆ กับสื่อบนนิตยสาร เขาจะมาสัมภาษณ์ผู้เล่น เขียนคอลัมน์ และถ่ายรูปกับผู้เล่นภายในเกมไปลงนิตยสารที่เขาสังกัดอยู่ การที่เราได้เจอดาราในเกมและได้ลงคอลัมน์หนังสือมันไม่ต่างอะไรกับการได้ออกทีวีในโลกแห่งความจริงเลย เรามักจะรู้สึกตื่นเต้นและออกตามหาดาราเหล่านี้ให้เจอสักครั้งในชีวิต ซึ่งในสมัยนี้อาจไม่มีให้เห็นเท่าไหร่แล้ว เนื่องจากเกมก็เปิดตัวมากขึ้น การกระจายตัวของผู้เล่นและสื่อก็มีมากขึ้น ไม่ได้มีสื่อไหนจดจ่ออยู่กับเกม ๆ เดียวอีกต่อไป ยิ่งในยุคโซเชียลมีเดียแบบนี้ใครก็สามารถมีชื่อเสียงโด่งดังได้ การเจอคนดังเลยไม่ใช่ความรู้สึกตื่นเต้นอีกต่อไป ยกเว้นว่าจะเจอกับไอดอลหรือคนที่เราชอบจริง ๆ เท่านั้นครับ
6. การเบิร์นแผ่นดิสก์แบ่งเกมกับเพื่อน
หลายคนในยุคนี้อาจไม่รู้จักการเบิร์นแผ่นดิสก์กันแล้ว แต่เชื่อว่าหลาย ๆ คนก็คงจะมีประสบการณ์แบบนี้อยู่ไม่น้อย ซึ่งการเบิร์นแผ่นดิสก์มันก็คือการ Copy แผ่น CD ด้วยกัน หรือการเอาข้อมูลใน PC มายัดลงแผ่นดิสก์นั่นเอง โดยจะใช้โปรแกรมที่ชื่อว่า Nero ซึ่งสายเกมมักจะมีติดเครื่องกันทุกคน เราจะใช้การเบิร์นแผ่นนี้แลกเปลี่ยนเกมกันระหว่างเราและเพื่อน ถ้ามีเพื่อนคนหนึ่งได้เกมใหม่มา เพื่อนในกลุ่มก็จะมีเกมนั้นเล่นกันทุกคน ยิ่งถ้าใครมีกลุ่มเพื่อนที่กว้างขวางล่ะก็ เรื่องการหาเกมเล่นนี่เรียกได้ว่าแทบจะไม่มีขาดตกบกพร่องเลยทีเดียว มันคือสังคมแห่งการแลกเปลี่ยนที่แท้จริง และบางครั้งเราก็ไม่ได้แลกเปลี่ยนกันแค่เกมด้วย อาจจะมีแบ่งอนิเมะให้กันดู โหลดหนังมาดู หรืออาจจะเป็นหนังผู้ใหญ่ก็มีเช่นกัน (555)
และนี่ก็คือ “6 ช่วงเวลาของการเล่นเกมที่หาได้ยากแล้วในยุคนี้” เป็นยังไงกันบ้างครับ พอพูดถึงแล้วแอบคิดถึงอดีตกันบ้างไหมเอ่ย เรื่องราวเหล่านี้เอาจริง ๆ ก็ผ่านไปนานกว่า 20 ปี แล้วนะครับ ในปัจจุบันไม่รู้ว่ายังสามารถพบเห็นได้อีกหรือเปล่า มันก็เป็นช่วงเวลาที่มีเสน่ห์ประจำยุคสมัยที่ค่อนข้างดีเลยล่ะครับ แล้วคุณล่ะครับมีโมเมนต์อะไรนอกจาก 6 ข้อนี้อีกไหม ที่มันหาได้ยากแล้ว ลองคอมเมนต์บอกเราได้นะครับ 🙂
source : tripadvisor.com, reddit.com, retrogameking.com,
getbookie.com, reddit.com