เกมไลฟ์สไตล์

7 ประสบการณ์ที่คุณได้รับจากการเล่นเกมยุค Famicom

เรื่องเก่า ๆ ของคนกำลังแก่ อายุเกิน 30 จะเข้าใจเป็นอย่างดี

เปิดหัวข้อมาแบบนี้ก็รู้ได้ทันทีว่านี่ไม่ใช่บทความสำหรับเด็กรุ่นใหม่สักเท่าไหร่นัก เพราะคนที่เข้ามาอ่านก็น่าจะมีแต่สาย Retro หรือไม่ก็คนรุ่นใหม่ที่สนใจวัฒนธรรมเกมแบบเก่า ๆ ซึ่งเรากำลังจะพูดถึงการเล่นเกมในยุค Famicom กันว่า ในช่วงเวลาหนึ่งของการเล่นวิดีโอเกมนั้นไม่ว่าใครก็น่าจะเคยผ่านการเล่นเกมตลับกันมาแล้วทั้งนั้น และมันได้มอบประสบการณ์ที่แสนดีให้กับเรามากมายไม่ว่าเราจะเล่นคนเดียวหรือเล่นเกมกับเพื่อนก็ตาม ซึ่งมีหลายอย่างที่พอเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น แพลตฟอร์มเกมเปลี่ยนไปมากขึ้น อะไรที่คลาสสิคแบบเก่า ๆ ก็ค่อย ๆ เลือนหายไปตามกาลเวลา บทความนี้เราก็เลยจะมาพูดถึงสิ่งที่น่าจดจำสำหรับเกมยุค Famicom กันครับ

1. จำลองภาพทุกอย่างเป็น 8 Bit


ในยุคที่เครื่องเกมไม่สามารถแสดงผลกราฟิกแบบ Full HD หรือ 4K ได้อย่างปัจจุบัน หรือแสดงเฉดสีได้เป็นสิบ ๆ ล้านสีได้ ภาพกราฟิกของเกมยุค Famicom จะถูกย่อลงเหลือเพียงแค่ 8 Bit เท่านั้น และแน่นอนว่าไม่ใช่แค่ภาพการ์ตูนหรือสิ่งสมมุตเท่านั้น แม้แต่สิ่งที่มีอยู่จริงก็ถูกจำลองให้เหลือ 8 Bit เช่น ภูเขา ต้นไม้ ป่า แม่น้ำ หรือแม้กระทุ่งมนุษย์ก็ต้องถูกย่อส่วนลงให้อยู่ใน Pixel ที่เล็กที่สุด ซึ่งก็ต้องอาศัยการออกแบบของผู้พัฒนาเกมด้วยเช่นกัน มันเป็นอะไรที่มีเอกลักษณ์มากในยุคนั้น เพราะต่อให้เล่นเกมแนว Pixel บนเกมยุคปัจจุบันก็ทำออกมาได้ดีกว่ายุคก่อนมาก ทั้งความคมชัดและการแสดงผลของเฉดสี ทำให้การจำลองภาพแบบ Pixel 8 Bit ในยุค Famicom นั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวตลอดกาลครับ

2. เกม Co-op หลายเกมฆ่ากันได้


หากพูดถึงเกม Co-op เราก็มักจะนึกการที่ผู้เล่น 2 คน เล่นเกมเดียวกันโดยมีจุดประสงค์เดียวกัน หรือพูดง่าย ๆ ก็คือร่วมมือกันผ่านด่านหรือทำภารกิจให้สำเร็จนั่นเอง แต่สำหรับเกมยุค Famicom นั้น ผู้เล่นทั้ง 2 คน อาจมีการฆ่ากันในเกมได้ง่าย ๆ ด้วยสิ่งที่เรียกว่า “การดึงฉาก” เนื่องจากเทคโนโลยีของเกมยุคนั้นยังไม่สามารถแสดงผลแผนที่ในเกมได้ทั้งหมด จึงจำเป็นที่ต้องค่อย ๆ แสดงผลตามจุดที่ผู้เล่นไปถึง แต่ถ้าเราเล่นกัน 2 คน ตัวเกมก็มักจะโฟกัสมุมกล้องไปอยู่ที่คนนำหน้าสุดเสมอ ซึ่งในการเล่นจริงนั้นก็มักจะมีการที่อีกคนตามเพื่อนไม่ทัน แต่ด้วยการที่ฉากได้ถูกเปลี่ยนไปแล้วเลยทำให้คนที่ตามไม่ทันตกฉากตายได้นั่นเอง เชื่อว่าหลายคนทะเลาะกันเพราะเรื่องนี้มานักต่อนักแล้ว

3. เพิ่มความท้าทายด้วยระบบ Score


เกมสมัยก่อนมักจะมีเกมเพลย์ที่เบสิค ไม่ซับซ้อน และสามารถเล่นได้ทุกเพศทุกวัย แต่นั่นก็อาจจะทำให้มีผู้เล่นบางกลุ่มที่เป็นฮาร์ดคอร์เกมเมอร์รู้สึกไม่หนำใจ และไม่มีตัวชี้วัดว่าเราเล่นเกมได้เก่งแค่ไหนแล้ว ผู้พัฒนาเกมส่วนใหญ่จึงใส่สิ่งที่เรียกว่า Score ลงไป เพื่อให้ผู้เล่นได้ใช้คะแนนเป็นตัวชี้วัดว่าฉันเก่งระดับไหนแล้ว ซึ่งถ้าผู้เล่นจะแข่งกันหรือมีการจัดทัวร์นาเมนต์แข่งเกมขึ้นมา Score จะเป็นเครื่องมือในการหาผู้ชนะอยู่เสมอ (ยกเว้นเกมต่อสู้) ซึ่งการเพิ่มแต้ม Score ในเกมยุคนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบของการเก็บ Item, การจัดการกับศัตรู และการคำนวณเวลาที่เหลืออยู่ในการเล่นเกมนั้น ๆ ครับ

4. เพลงประกอบที่ติดหูตั้งแต่เด็กยันแก่


ในเรื่องของเพลงหรือซาวด์ประกอบของเกมยุค Famicom นั้นก็มีความเป็นเอกลักษณ์เช่นเดียวกัน เนื่องจากว่าเทคโนโลยี 8 Bit ในตอนนั้นไม่สามารถใส่ไฟล์เสียงแบบเต็มอัตราเข้าไปในเกมได้ ต่อให้ผู้พัฒนาจะแต่งเพลงโดยใช้วงออร์เคสตราอลังการงานสร้างขนาดไหน พอใส่ลงในเกม 8 Bit ก็จะใส่ได้เพียงไม่กี่โน้ตเท่านั้น ดังนั้นผู้พัฒนาเกมและนักแต่งเพลงของเกมยุคนี้เลยต้องคิดมาอย่างถี่ถ้วนแล้วว่า จะแต่งเพลงยังไงให้ใช้โน้ตเพลงน้อยที่สุด ผู้เล่นได้ยินชัดที่สุด และเกิดเอกลักษณ์เฉพาะตัวได้มากที่สุดจนออกมาเป็นเพลงประกอบที่เราเคยได้ยิน ซึ่งมันจะทำให้ติดหูไปยันแก่เลยล่ะ เพราะผมเชื่อว่าใครหลาย ๆ คนในที่นี้คงจะจำเพลงของเกมในดวงใจได้เป็นอย่างดี ถึงขนาดว่าท่องออกมาด้วยปากเปล่าได้เลยล่ะ

5. ปุ่มบังคับไม่ซับซ้อน แต่เล่นยาก


เครื่องเกม Famicom แบบต้นตำรับนั้น ตัว Controller หรือจอยเกมนั้นจะมีปุ่มบังคับไม่เยอะเหมือนจอยเกมยุคนี้ ตัวจอยจะมีเพียงปุ่มลูกศรทิศทาง, A, B, Select และ Start เท่านั้น ซึ่งถ้าพูดกันตามตรง Select กับ Start แทบไม่ได้ใช้ในเกมเพลย์เลยด้วยซ้ำ ซึ่งเราจะใช้แค่ลูกศรกับ A, B เพียงเท่านั้น และการบังคับก็จะจบลงแค่นั้นจริง ๆ จะเคลื่อนไหวก็ใช้ลูกศรไป จะโจมตีก็ใช้ A กับ B หรือถ้าเกมไหนมีกระโดดมักจะใช้ A เป็นปุ่มกระโดด และใช้ปุ่ม B เป็นปุ่มโจมตี เป็นต้น แต่ถึงแม้ว่าตัวเกมจะบังคับได้ไม่ยากอะไรถึงขนาดว่าคนเล่นใหม่ก็เล่นเป็นได้ไม่ยาก แต่ด่านต่าง ๆ ที่อยู่ในเกมยุคนี้มันไม่ได้ง่าย เพราะส่วนมากจะเป็นเรื่องของการจดจำแมคคานิคของศัตรูว่าโผล่มาตรงจุดไหน โจมตียังไง เคลื่อนไหวยังไง ถ้าจำได้ก็ผ่านได้ง่าย แต่ถ้าจำไม่ได้ก็มีหัวร้อนกันบ้างล่ะ

6. รู้จักการเซฟเกมด้วยการใส่โค้ต


การเล่นเกมสมัยก่อนนั้นเราจะไม่ได้มี Cloud บนอินเทอร์เน็ตที่สามารถเซฟเกมแบบออนไลน์ได้ หรือไม่ได้มีฮาร์ดดิสก์ที่ใช้เก็บข้อมูลได้เหมือนเครื่อง Console ในยุคปัจจุบัน และก็ไม่ได้มี Memory Card แบบที่ PS1 หรือ PS2 มีอีกด้วย การจะเซฟเกมไว้เล่นต่อของเกมยุคนี้จะเป็นเรื่องของการใส่โค้ดเกม โดยก่อนเริ่มเกมจะมีตัวเลือกระหว่าง Start New Game หรือ Continue ถ้าเราเลือก Continue ก็จะเข้าสู่หน้าใส่โค้ดประจำเกม ถ้าเราใส่ถูกตัวเกมก็จะตัดภาพในเกมไปสู่เหตุการณ์ปัจจุบันที่เราเล่นค้างไว้ ซึ่งโค้ดเหล่านี้จะได้จากการที่เราผ่านด่านไปจดถึงระดับนึงแล้วได้รับเช็คพอยต์เป็นโค้ดมาให้เราจดใส่กระดาษไว้ หลาย ๆ คนอาจจะเรียกสิ่งนี้ว่า “สูตรลัดด่าน” ก็ได้ 

7. ลดความยากด้วยการใช้สูตรเกม


ถ้าเราเล่นเกมไม่ผ่านในสมัยนี้ก็คงจะหาวิธีแก้ง่าย ๆ ด้วยการเปิดกูเกิ้ลหรือยูทูปเพื่อที่จะหาเทคนิค วิธีผ่านหรือไกด์การเล่น เพื่อจะทำให้เราสามารถเล่นเกมนั้น ๆ ได้อย่างสะดวก และเข้าใจแมคคานิคของเกมมากยิ่งขึ้น แต่สำหรับเกมสมัยก่อนที่ยังไม่ใช่เกม Multiplayer ที่มีผู้เล่นหลายคน เราเล่นคนเดียวซะส่วนมาก แถมยังสู้กับบอทอีกด้วย ดังนั้นผู้พัฒนาเกมบางเกมเลยให้สูตรลับที่บันทึกเอาไว้ในตัวเกม ถ้าเรากดสูตรติดก็จะพบกับความง่ายในการเล่นเกมให้ผ่านได้ ซึ่งก็จะทำให้การเล่นเกมแบบแคสชวลมีอรรถรสมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าวันไหนคุณรู้สึกอยากท้าทายตัวเองค่อยกลับมาเล่นใหม่แบบไม่ใช้สูตรก็ยังไม่สาย

และนี่ก็คือ “7 ประสบการณ์ที่คุณได้รับจากการเล่นเกมยุค Famicom” ตรงกับสิ่งที่เพื่อน ๆ เคยเจอมาไหมครับ พูดแล้วก็คิดถึงโมเมนต์การเล่นเกมสมัยก่อนเหมือนกันนะครับ ในยุคนั้นมีอะไรที่น่าจดจำมากมายเลย โดยเฉพาะการเป่าตลับเกมก่อนเสียบเข้าที่เครื่องนี่คลาสสิคสุด ๆ ไปเลย ถ้าใครสนใจอยากหวนวันวานก็ลองไปรื้อมาเล่นกันดูนะครับ 🙂

Now Loading

ชอบเพลง Metal | บันเทิงกับการถ่ายรูป | ของโปรดคือเนื้อย่าง | เล่นเกมบ้างบางเวลา
Back to top button

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save