การ์ตูน

6 สุดยอดการ์ตูนแนวแข่งเกมของเด็กยุค 80-90

สะท้อนเรื่องราวของวีดีโอเกมในช่วงเริ่มต้น

ในช่วงที่เครื่องวีดีโอเกมแฟมิคอมได้รับความนิยม ก็ถือกำเนิดหนังสือการ์ตูนเกี่ยวกับวีดีโอเกมมากมาย มีทั้งทำนำเรื่องราวของเกมดังในสมัยนั้นมาทำเป็นเกมๆ ไป มีทั้งที่อิงจากเนื้อหาและวิธีการเล่นเกม รวมกับเป็นไกด์เกมย่อมๆ หรือจะเปลี่ยนเรื่องราวเป็นอื่นไปเลยก็มี และมีอีกแนวหนึ่งที่เหมือนเป็นตัวแทนของผู้เล่นหรือเด็กๆ ที่จะนำเสนอถึงการโชว์ฝีมือและการแข่งขัน รวมกับการแข่ง esports สมัยนี้เลย ซึ่งจะเสนอเกมในหลากหลายรูปแบบ และแน่นอนเพื่ออรรถรสความเป็นการ์ตูน มันเติมเรื่องราวของการเล่นเกมเพื่อต่อสู้กับองค์กรต่างๆ หรือการต่อสู้แบบถึงเลือดหรือชีวิต ลองมาดูกันครับว่าเกิดทันอ่านเรื่องไหนกันบ้าง

1. ร็อคกี้ นักสู้แฟมิคอม หรือ ร็อคกี้ อัศวินเกมส์กด (Famicom Rocky)

ผลงานของ Asai Motoyuki – ปี 1985

ด้วยความนิยมของเกมแฟมิคอมทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ติดกันงอมแงม มังงะสายเกมแฟมิคอมจึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อตอบสนองตามความต้องการของตลาด มังงะเรื่องนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1985 บนนิตยสารการ์ตูนโคโระโคโระคอมมิคก่อนจะจบภาคแรกลงในปี 1987 และในปีเดียวกันนั้นอาจารย์อาซาอิก็ได้สานต่อความสนุกกันต่อด้วยร็อคกี้ภาคสองต่อในทันที โดยชื่อเรื่องได้รับอิทธิพลมาจากภาพยนตร์เรื่องดังในยุคนั้นอย่าง Rocky อาจารย์ซาคาอิได้หยิบจับคาแร็คเตอร์ของ “Rocky Balboa”

“โทโดโรกิ ยูกิ” เป็นลูกเจ้าของค่ายมวย สมญานาม “ร็อคกี้” เป็นเด็กที่มีพรสวรรค์ในการเรียนรู้ ใช้ผลจากการฝึกฝนมวยมาดัดแปลงเป็นท่าไม้ตายในการเล่นแฟมิคอม โดยเริ่มแรกเดิมทีเจ้าหนูยูกิของเรานี่จับผลัดจับผลูเข้าสู่เส้นทางของแฟมิคอมโดยบังเอิญ โดยมี “เกอิมุ ยูอิจิโร่” ที่เป็นทั้งเพื่อนทั้งคู่แข่งคอยดึงดูดยูกิเข้าสู่วงการเกม กว่าที่ยูกิจะรู้ตัว ตัวเองก็ได้หลงรักเกมแฟมิคอมเข้าไปให้แล้ว


2. เจ้าหนูเกมบอย (Rock’n Game Boy)

ผลงานของ Ikehara Shigeto – ปี 1989

เจ้าหนูเกมบอยถือเป็นการ์ตูนสายหลักเต็มตัว โดยซีนบู๊จะไปอยู่ในการแข่งขันในเกม ส่วนพระเอกของเรื่องนี้คือเจ้าหนูนันบะ ฮาจิเมะ เป็นเด็กประถมที่มีความมั่นใจในฝีมือเกมของตัวเองสูงปรี๊ด เป็นเด็กอวดดี ไม่ยอมฟังคำคนที่อ่อนกว่าตน และตั้งสมยาให้ตัวเองว่า “ร็อคเก็ตเกมบอย” และตั้งชื่อท่าไม้ตายของตนว่า “ร็อคเก็ตสปิริท” แต่ฮาจิเมะนี่ไม่ใช่เด็กที่มีดีแต่ปากนะ หมอนี่ฝีมือการเล่นเกมฉกาจสมฉายาจริงๆ แม้ว่าช่วงแรกยังเทียบชั้นกับพี่ชาย(นันบะ โช)ที่เป็นถึงเกมเมอร์ชื่อดังได้รับการยอมรับในระดับประเทศไม่ได้ 

ฮาจิเมะต้องใช้เจ้าเกมบอยและฝีมืออันเอกอุของตนนี่แหล่ะในการไล่ตามหาเบาะแสของโชพี่ชายของตนที่จู่ๆได้หายตัวไปอย่างปริศนา ฮาจิเมะแกะปริศนาฟันฝ่าจนสืบพบว่าต้นตอทั้งหมดนั่นคือองค์กรใหญ่อย่าง Bug นั่นเอง โดย Bug มีเป้าหมายในพัฒนาเกมเมอร์เอามาใช้ในการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ทำลายล้างอันล้ำสมัย ยิ่งได้เกมเมอร์ที่เล่นเกมเก่งเท่าไหร่ก็ยิ่งตอบสนองต่อประสิทธิภาพของอาวุธได้มากเท่านั้น

3. นักสู้เกมส์คอมพิวเตอร์ (Fami-com Cap)

ผลงานของ Kobayashi Tatsuyoshi – ปี 1986

พระเอกของเราคือเจ้าหนู “แค็ป” (ซึ่งก็เป็นการเล่นคำที่ถูกตั้งตามชื่อต้นฉบับของญี่ปุ่น “แฟมิคอมแค็ป” Cap ที่แปลว่าหมวกนี่แหล่ะ ซึ่งหมวกนี่ก็เป็นเอกลักษณ์ของพระเอก โดยเป็นหมวกที่สามารถเหน็บตลับเกมแฟมิคอมไว้ได้ฝั่งละตลับ) โดยมีเพื่อนที่หลงใหลในเกมแฟมิคอมด้วยกันอย่าง บั๊ค, ไฮเทค และโอคาร่า(นางเอก) เจ้าหนูแค็ปจัดเป็นเกมเมอร์สายทัวร์แข่ง ได้กลิ่นการจัดการแข่งขันที่ไหนต้องมีหมอนี่ไปลงแข่งขันด้วยตลอด โดยมี “อายาโน่ โคจิ”ทายาทเพียงหนึ่งเดียวของบริษัทยามาโตะคอมพิวเตอร์พี่เบิ้มแห่งวงการเกมญี่ปุ่น ที่คอยเป็นคู่ปรับตัวฉกาจตลอดกาลของแค็ป โดยความสัมพันธ์ของแค็ปและโคจิ จัดอยู่ในรุปแบบของการยอมรับนับถือในฝีมือของกันและกัน การมีอยู่ของกันและกันถือเป็นแรงผลักให้ตัวเองไม่หยุดอยู่กับที่ พร้อมพัฒนาฝีมืออยู่เสมอ

เจ้าหนูแค็ปของเรานี่ก็ติดนิสัยแปลกๆอยู่อย่างนึง คือเวลาแค็ปมันน็อคเกมไหนได้ หมอนี่จะชอบโยนตลับเกมนั้นลอยปลิวขึ้นฟ้าพร้อมประกาศน็อค(จริงๆจะเรียกว่าขว้างทิ้งก็ได้นะ)

4. อัศวินเกมส์คอมพิวเตอร์ (Famicom Fuunji)

ผลงานของ Ikehara Shigeto – ปี 1985

พระเอกของเรื่องคือ “เท็นริว เคน”ผู้มีความใฝ่ฝันอยากจะเป็นโปรแกรมเมอร์ฝีมือดีในอนาคต และมีฝีมือด้านการเขียนโปรแกรมชนิดหาตัวจับได้ยาก โดยเรื่องนี้ตัวเอกจะมีคู่หู 2 คนคือ “คาซึม่า” ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลและกลยุทธ์ และ “ทาคุยะ” ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งประดิษฐ์และเครื่องจักรกล ทั้ง 3 คนได้จับกลุ่มกันเพื่อศึกษาเกี่ยวกับปริศนาต่างๆในเกมแฟมิคอม ความเก่งกาจของ 3 คนนี่เป็นที่เลื่องลือไปทั่ว จนถูกขนานนามว่า “คอมบอย” ซึ่งชื่อเสียงของคอมบอยนี้เอง ที่ทำให้ถูกหมายตาโดยองค์กรชาโดว์ ซึ่งเป็นองค์กรที่ต้องการใช้แฟมิคอมในการยึดครองโลก โดยเชื่อว่าแฟมิคอมจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ดังนั้นหากยึดวงการแฟมิคอมได้ก็จะสามารถครองโลกได้ไม่ยาก แน่นอนว่ากลุ่มคอมบอยจะไม่ยอมให้องค์กรชาโดว์ นำเอาแฟมิคอมมาใช้ในทางที่ผิดเด็ดขาด การต่อสู้ระหว่างคอมบอย กับ องค์กรชาโดว์จึงได้เริ่มต้นขึ้น และ แน่นอนเนื้อหาของตัวเกมก็ถูกปรับเปลี่ยนเพื่อความสนุกสนานของผู้อ่าน ถ้าเด็กหนวดที่เติบโตมาพร้อมกับยุคแฟมิคอมล่ะก็ รับรองอ่านแล้วจะวางไม่ลงเลย

5. เรียวนักสู้เกมส์กด หรือ แฟมิคอม ริว (Famicom Ryu)

ผลงานของ Ryuichi Hoshino – ปี 1986

โองามิ ริว เด็กหนุ่มผู้มีทักษะทางกังฟูระดับอัจฉริยะ ได้ถูกเพื่อนสนิทของเขา “ยูตะ” ชักนำเข้าสู่วงการแฟมิคอม โดยยูตะเล็งเห็นว่าวิชากังฟูของริว สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการเล่นแฟมิคอมได้อย่างเหลือเชื่อ โดยริวสามารถนำวิชากังฟูของตนมาใช้ในการเล่นเกม ในชื่อ “ริวเคนโป” (วิชาหมัดมังกร)

โดยจุดเด่นของเรื่องนี้คือการที่ ริวสามารถมองสถานการณ์ภายในเกม แล้วเอาวิชากังฟูของตนมาประยุกต์ เช่นพวกเกมกังฟู ก็จะคิดว่าถ้าเป็นตนเองจะใช้วิธีการต่อสู้แบบไหน และอีกจุดเด่นก็คือ เนื้อหาที่รุนแรงของการ์ตูนเรื่องนี้ เพราะริวเป็นพวกบ้าพลังถึงที่สุดทำให้เกิดฉากต่อสู้ (แข่งเกม) อันรุนแรงจนยากที่เราจะจินตนาการถึงได้  แน่นอนว่าเรื่องนี้ก็มีศัตรูเช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ โดยความสามารถอันโดดเด่นของริวทำให้ตกเป็นเป้าหมายของ ซูเปอร์คอมพิวเตอร์คอบร้า ซึ่งเป็นบอสของกลุ่มถ้ำอสรพิษ ที่ต้องการร่างกายของริวมาเป็นของตนเอง เพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่ตนในการเล่นแฟมิคอม จนถึงสามารถแฮกคอมพิวเตอร์ของประเทศ จนสามารถครองโลกได้ ถ้าอยากจะรู้ว่าริวต้องพบการต่อสู้ที่ดุเดือดขนาดไหน ก็ต้องลองหามาอ่านกันดูครับ

6. เจ้าหนูสมองกล หรือ เจ้าหนูซุปเปอร์แฟมิคอม (Cyber Boy)

ผลงานของ Nagai Noriaki – ปี 1991

เรื่องราวของการ์ตูนที่เข้าสู่ยุคสมัยของเครื่องซุปเปอร์แฟมิคอม (SFC) เป็นเรื่องราวของ ไซบะ อิคคิ เด็กน้อยผู้คลั่งไคล้ในการเล่นที่เป็นเซียนเกมแต่กลับไม่มีเครื่อง SFC เป็นของตนเอง

อิคคิ เปิดตัวด้วยการเข้าร่วมแข่งขันเกมบนเครื่องซิมูเลเตอร์แบบสมจริง ก่อนเข้าสู่วงการ SFC อย่างเต็มตัวในศึกที่สองเป็นต้นมา ด้วยความที่เจ้าหนูซุปเปอร์แฟมิคอมเป็นการ์ตูนมีต้นกำเนิดมาเพื่อโฆษณา จึงกลายเป็นการ์ตูนที่จบเป็นตอนๆ จะตอนสั้นตอนยาวก็ว่าไป ไม่มีไลน์เนื้อเรื่องหลักให้ต้องฟันฝ่าอะไร

พล็อตเรื่องเลยตั้งไว้ง่ายๆ หลวมๆ นั่นคือให้อิคคิพระเอกของเราเป็นเกมเมอร์สายทัวร์แข่งนั่นเอง ใครจัดแข่งขันเกมที่ไหนหมอนี่ลุยหมด สลับกับการท้าแข่งกับคนอื่น และด้วยความเป็นการ์ตูนที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเกม ไม่แปลกนักที่ อิคคิจะสามารถโลดแล่นในใจของนักอ่านในยุคนั้นได้ไม่ยาก ตัวเรื่องได้หยิบจับเอาเกมยอดฮิตของ SFC มาลงไว้อย่างครบครัน อาทิเช่น Super Mario World, F-Zero, Gradius 3, Ultraman, Aria 88, Makaimura, Street Fighter 2, Super Mario Kart, Garou Densetsu, ฯลฯ แล้วยังมีการแว๊บกลับไปแข่งเกมของเครื่องคอนโซลอื่นบ้างนิดหน่อย อย่างเกม Adventure Island 2, Bomberman, Capcom Bacelona 92 ของเครื่อง Famicom และเกม Final Soldier, Star Parodia ของเครื่อง PC-Engine หรือแม้แต่เครื่องหนีบตุ๊กตาหยอดเหรียญ หมอนี่ก็ยังมิวายเข้าไปแข่ง

อ่านรีวิวการ์ตูนฉบับเต็มได้ที่: Cartoon Party รวมพลคนรักการ์ตูนเก่า
หรือสนใจการ์ตูนเกี่ยวกับเกมลองดูที่Otaku Comic

ที่มา
Cartoon Party รวมพลคนรักการ์ตูนเก่าOtaku Comic
Back to top button

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save