“คุจากุ เทพฤทธิ์พิชิตมาร” หรือชื่อภาษาญี่ปุ่น “Kujaku-Oh” (Spirit Warrior) เป็นผลงานของอาจารย์ Makoto Ogino เริ่มตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1985
สำหรับใครที่ได้ทันเป็นวัยรุ่นในช่วงยุค 90 สิ่งที่จะให้ให้หลายๆ คนซึมซับวัฒนธรรม รวมไปถึงวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่นคงหนีไม่พ้นการ์ตูน หรือมังงะต่างๆ ที่เข้ามาในประเทศไทยแบบ “พิมพ์เถื่อน” หรือผิดลิขสิทธิ์เสียส่วนใหญ่ ซึ่งหลายๆ สำนักพิมพ์ที่เราคุ้นชื่อกัน เช่น วิบูลย์กิจ,สยามสปอร์ตพับบลิชชิ่ง,มิตรไมตรี,ยอดธิดา,หมึกจีน , อนิเมท ,สามดาว และ สำนักพิมพ์อื่นๆ ซึ่งแต่ละเจ้าก็จะมีจุดเด่น จุดด้อยแตกต่างกันขึ้นอยู่ว่าใครจะชอบสไตล์ของเจ้าไหน
ซึ่งเมื่อเริ่มมีการ์ตูนติดเรท 18+ ออกมาไม่ว่าจะด้วยเนื้อหา ,ความโหด หรือฉากโป๊เปลือย ยิ่งทำให้เราได้เห็นความแตกต่างของแต่ละสำนักพิมพ์มากยิ่งขึ้น สำหรับสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ ก็จะมีนโยบายในการเซ็นเซอร์ แบบไม่ให้เสียอรรถรส แบบเป็นบล๊อคๆ โมเสคบังหมดก็ชวนให้คนอ่านหงุดหงิด ก็จะมีสำนักพิมพ์หมึกจีน ที่เริ่มการเซ็นเซอร์ด้วย “ตัวอักษรศีลธรรม” เช่น คว้างงงงง ,ผ่างงงง ฯลฯ ที่คนอ่านการ์ตูนยุคแรกเริ่มหลายคนรู้จักกันดี
คุจากุ เทพฤทธิ์พิชิตมาร เวอร์ชั่นภาษาญี่ปุ่นมีทั้งหมด 17 เล่มด้วยกัน
ซึ่งในประเทศไทยที่ได้พิมพ์ออกมาทั้งแบบเถื่อน และลิขสิทธิ์ ทั้งหมด 5 ภาค คือ
ภาค 1 กำเนิดคุจากุ ตอน เทพคุจากุ คืนชีพ
ภาค 2 ล่าสมบัติจอมมาร (Kujakuou Taimaseiden)
ภาค 3 ตำนานมางาริงามิกิ (Kujakuou – Magarigamiki)
ภาค 4 Kujakuou – Rising
ภาค 5 Kujakuou – Sengoku Tensei
ถ้าใครได้อ่านคุจากุเล่มแรก แล้วมาอ่านอีกทีเล่มสุดท้ายเลยอาจจะตกใจเนื่องจากลายเส้นมีความแตกต่างกันมากราวกับผู้วาดคนละคนกันเลยทีเดียว โดยความติดเรทของการ์ตูนก็จะเน้นไปที่ความดิบโหดของปีศาจที่เกิดจากกิเลสเข้ามาสิงสู่ในมนุษย์ ก็จะมีฉากแอคชั่นการปราบปีศาจมันๆ ฆ่ากันตายแบบชิ้นส่วนร่างกายถูดตัดขาด มีฉากเซ็กส์(ที่มีตัวอักษรศีลธรรม) โดยรวมแล้วมีเนื้อหาเข้มข้นสำหรับนักอ่านที่ชอบความแฟนตาซีเหนือมนุษย์
เนื้อเรื่องย่อ คุจากุ เทพฤทธิ์พิชิตมาร (1985)
คุจากุ เป็นนักบวชในศาสนาพุทธ ที่อยู่ในสายนักปราบภูตผีปีศาจ โดยเขาเป็นสมาชิกขององค์กรปราบผีลับ ชื่อ อุราโคยะ ช่วงแรกจะเป็นเรื่องปราบผีจบในตอน และได้เป็นเพื่อนมือปราบผี ชื่อ โอนิมารู แห่งลัทธิจุคิน มาร่วมกันปราบผี แต่ตั้งแต่กลางเรื่องเป็นต้นไปเนื้อหาจะเป็นเรื่องยาว (เทพคุจากุคืนชีพ) โดยเริ่มจาก ความลับเกี่ยวกับ 8 ผู้เฒ่าใบบัวแห่งลัทธิริคุโด ที่ต้องการฟื้นคืนชีพ ราชาแห่งนกยูง(ราชันย์มยูรา) และ ราชาแห่งงู (เทพงูสวรรค์) เพื่อรวมร่างกันให้กำเนิด โพธิสัตว์โรจนะสายมืด
ความดังของคุจากุ อยู่ในระดับที่ผ่านการทำเป็นอนิเมชั่นมาแล้ว ,มีเกมในเครื่อง Mega-drive และภาพยนตร์คนแสดงจริง 2 ภาคด้วยกัน คือภาค Peacock King(1988) และภาค Saga of the Phoenix(1990) ใช้ชื่อไทยว่า “ฤทธิ์บ้าสุดขอบฟ้า” (เคยฉายในโรงบ้านเราด้วย) ซึ่งเป็นภาพยนตร์จีนฮ่องกงร่วมทุนสร้างระหว่าง โกลเด้นฮาร์เวสต์ กับ โตโฮ
ม้วน VDO VHS : อนิเมชั่นภาค Peacock King Spirit Warior
เกมเครื่อง Mega-Drive
ภาพเกมเมกาไดซ์ แนวเดินลุย 2 มิติมุมมองด้านข้างเน้นยิงต่อสู้แบบเอามันส์สะใจ กลายเป็นเกมที่มีคนจำได้มากที่สุดเกมหนึ่ง ฉบับเมก้าไดร์ฟนี้ได้จับเอาตอนพิเศษที่สร้างเป็นการ์ตูนทีวี “KujakuOh 2 GeneiJou” ว่าด้วยการคืนชีพของมารฟ้าลำดับที่หก “โอดะโนบุนากะ” ผู้ซึ่งจับตัวสาวน้อย “อาชูร่า” ไป
ภาพยนตร์ “ฤทธิ์บ้าสุดขอบฟ้า” ร่วมทุนสร้างระหว่าง โกลเด้นฮาร์เวสต์ กับ โตโฮ
ภาพยนตร์ในส่วนของ Special Effect ก็ทำออกมาได้ดีตามยุคสมัย (โดยส่วนใหญ่ จะเป็นงานสร้างของทีมญี่ปุ่น) ส่วนงานแอ็คชั่น จะเป็นของทีมฮ่องกง (จะเห็นได้ว่า ฉากบู๊มีความเป็น หยวนเปียว ค่อนข้างมาก เนื่องจากเขาได้มีส่วนร่วมในการออกแบบและกำกับคิวบู๊ด้วยนั่นเอง) แถมยังได้ หลิวเจียฮุย (ดารานักบู๊ยอดนิยมในสมัยนั้น) มารับบทนักรบจากอุราโคยะที่มาเพื่อไล่ล่าและกำจัดเทพอสูร อาชูร่า ก่อนที่จะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเปิดผนึกอาณาจักรปีศาจ
อาจารย์ Ogino Makoto ผู้วาดคุจากุ
โดยปัจจุบันอาจารย์ Ogino Makoto ได้เสียชีวิตไปแล้วในวัย 59 ปี ด้วยสาเหตุคือไตวาย ซึ่งคุจากุถือเป็นผลงานชิ้นแรกของอาจารย์ที่ได้รับการตีพิมพ์ลงในนิตยสารรายสัปดาห์ Weekly Shonen Jump นอกจากนั้นยังมีผลงานที่ตีพิมพ์ในไทยหลายเรื่อง เช่น Algo (อัศวินไซเบอร์) ,Chairudo (ไจรูโดะ มนุษย์พันธ์ใหม่ไม่ใช่คน) และ Yashagarasu (การาสุ เทพคร่าวิญญาณ)
สำหรับเรื่องคุจากุ หลังจากมีข่าวอาจารย์ Ogino Makoto ได้เสียชีวิตไป ทางบุรพัฒน์ก็ได้แจ้งว่าในภาคสุดท้ายจะออกให้ครบตามต้นฉบับญี่ปุ่น 4 เล่ม และก็จะเป็นการ์ตูนอีกเรื่องหนึ่งที่จะไม่มีตอนจบให้อ่านกันตลอดกาล
ข้อมูลจาก – BurapatComics ,Wikipedia
ติดตามบทความการ์ตูนติดเรทในตำนานเพิ่มเติมได้ในลิ้งค์ด้านล่าง
มังกรซ่อนลาย , COBRA เห่าไฟสายฟ้า , Bastard!! อสูรร้ายจอมราชันย์
ข่าวสารอื่น ๆ เกี่ยวกับการ์ตูน : GamerCulture