6 แรร์ไอเทมแห่งวงการเกมที่บอกอายุคนเคยใช้
แค่รู้จักยังพอเข้าใจ แต่ถ้าเคยใช้คงไม่ใช่เด็ก ๆ แล้วนะคุณ
ในช่วงเวลาและวงการเกมเติบโตและพัฒนาขึ้นอยู่ทุกเวลา นั่นทำให้เกิดสิ่งใหม่และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ล้ำสมัยขึ้นมากกว่าเดิม แต่นั่นก็ทำให้เทคโนโลยีเก่าตกรุ่นและค่อย ๆ เลือนหายไปตามกาลเวลาในที่สุด และมันมักจะเป็นแบบนั้นเรื่อยมา เรามักจะเคยเห็นอุปกรณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับเกมที่ยุคหนึ่งเคยเฟื่องฟูมาก เรียกได้ว่าแทบจะทุกคนต้องรู้จักและเคยใช้มัน
แต่ทุกวันนี้กลับไม่เห็นแม้แต่เงา นั่นเป็นเพราะว่ามีเทคโนโลยีอื่นที่ดีกว่าเข้ามาทดแทนและสิ่งนั้นก็ตกรุ่นไปในที่สุด ซึ่งนั่นทำให้เด็กรุ่นถัด ๆ ไปเกิดไม่ทันและไม่มีโอกาสได้สัมผัสสิ่งเหล่านี้เลย และบทความนี้ผมก็ได้รวบรวมเอาแรร์ไอเทมแห่งวงการเกมมาพูดคุยให้ทุกท่านชวนคิดถึงกันครับ แต่ใครก็ตามที่เคยใช้งานอุปกรณ์เหล่านี้ในช่วงเวลาของมัน โปรดรู้ไว้ว่าตัวเองไม่ใช่เด็กแล้วนะครับ
1. Floppy Disk
“ฟลอปปี้ดิสก์” หรือที่บ้านเราชอบเรียกกันติดปากว่า “ไดร์ฟ เอ” คือไอเทมยุคต้นแบบที่ใช้เก็บข้อมูลออกจากคอมพิวเตอร์ได้แบบพกพา พูดได้ว่าพัฒนาต่อมาจาก HDD ในเครื่อง และในอนาคตถูกพัฒนาต่อมาจนเป็นแผ่น CD และแฟลตไดร์ฟแบบ USB ในที่สุด นั่นทำให้ Floppy Disk ถูกเลือนหายไปตามกาลเวลา เพราะมันมีความจุดน้อย อย่างเก่งก็ 2.88 MB เท่านั้น แถมยังต้องใช้เครื่องอ่านของมันโดยเฉพาะ ไม่เหมือนช่อง USB ที่มีแทบทุกเครื่องในปัจจุบัน ใครเป็นเด็กยุค 90’s แม้ไม่ได้เล่นเกมก็อาจจะได้พบเจอในคาบวิชาคอมพิวเตอร์กันไปบ้าง เพราะครูอาจให้ใช้สิ่งนี้ในการเซฟงานมาส่งครูเนื่องจากราคาถูกมาก ประมาณ 10 บาทต่อแผ่นเท่านั้น แต่สำหรับวงการเกม เจ้าสิ่งนี้เปรียบเสมือนเซฟเกมที่เราสามารถพกติดตัวไปเล่นที่ไหนก็ได้ เพราะเมื่อก่อนไม่มี ID เกมออนไลน์ การจะเล่นต่อเซฟเดิมจำเป็นต้องเล่นเครื่องเดิมเท่านั้น แต่สำหรับคนที่เล่นร้านเกมการจะได้เล่นเครื่องเดิมเป็นอะไรที่ลำบากมาก การมีเจ้าสิ่งนี้จะทำให้เราย้ายเครื่องย้ายร้านได้ตามต้องการ
2. เมาส์ลูกกลิ้ง
แรร์ไอเทมชิ้นนี้แม้จะไม่ใช่ไอเทมสำหรับสายเกมมิ่งแบบตรงไปตรงมา เพราะมันก็คืออุปกรณ์พื้นฐานสำหรับคอมพิวเตอร์นั่นแหละ แน่นอนว่าไม่ใช่คนเล่นเกมก็ต้องเคยเจอเคยสัมผัสอยู่แล้ว อย่างน้อย ๆ ก็ต้องใช้เรียนใช้ทำงานกันบ้างในช่วงเวลานั้น แต่กลับกันที่หยิบจับเอาสิ่งนี้มาพูดเพราะว่ามัน WTF มากสำหรับชาวเกมเมอร์ยังไงล่ะ แม้ในยุคนั้นจะยังไม่มีเกมที่กราฟฟิกอลังการงานสร้าง แต่ก็เรียกได้ว่ามีฮาร์ดคอร์เกมอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียวที่ต้องใช้ความจริงจังในการเล่น โดยเฉพาะสาย FPS ที่ต้องใช้ความความว่องไวในการเล่น หรือสาย RTF ที่ต้องใช้ความละเอียดในการบังคับยูนิตต่าง ๆ เมาส์ลูกกลิ้งคือไอเทมที่ทำลายความไหลลื่นนั้นให้พังยับเยินได้เสมอแล้วก็หัวร้อนกันไป ทำให้ผู้เล่นหลายคนในยุคนั้นจะต้องเคยแกะลูกกลิ้งเมาส์ออกมาทำความสะอาดอย่างแน่นอน
3. Memory Card
สำหรับสาย Console ไม่ว่าคุณจะมีเครื่องอยู่บ้านของตัวเอง ไปเล่นบ้านเพื่อน หรือแม้แต่ไปเล่นที่ร้าน ยังไงก็ต้องเคยพบเห็นหรือใช้งาน Memory Card ของเครื่อง Playstation อย่างแน่นอน เจ้าสิ่งนี้คือตัวช่วยในการเซฟเกมที่สามารถทำให้เราเล่นเกมต่อจากที่เราเล่นค้างอยู่ได้ ทำหน้าที่คล้าย ๆ Floppy Disk ของ PC นั่นเอง โดยเราจะมีให้เห็นแค่ 2 ยุค คือของ PS1 กับ PS2 เท่านั้น ซึ่งของ PS1 จะใช้ระบบความจุของจำนวนเซฟเป็นจำนวน Blocks สูงสุด 15 Blocks บางเกมอาจจะใช้แค่ช่องเดียว แต่บางเกมที่เนื้อหาเยอะหน่อยก็อาจจะใช้ถึง 3-4 Blocks เลยทีเดียว พอเปลี่ยนมาในช่วง PS2 ก็เปลี่ยนจากการเซฟระบบ Blocks มาเป็นความจุแบบที่เราใช้กันในคอมพิวเตอร์ โดยมีความจุอยู่ที่ 8 MB และเซฟเกมได้มากกว่า 15 เกม ตราบใดที่ความจุยังไม่เต็มนั่นเอง หลังจากเข้า PS3 ก็ไม่มี Memory Card ให้เห็นอีกแล้วเพราะ Sony ได้หันมาใช้ระบบ HDD ในเครื่องเกมแทน เพื่อไม่ให้ผู้เล่นต้องเสียเงินซื้อ Memory Card อีกรอบ ก็ประหยัดเงินได้เยอะขึ้นครับ
4. Action Replay
ในยุคทองของเครื่อง Playstation นั้น ขอบอกเลยว่าฮิตจัดจนมีสูตรโกงออกมามากมายนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นสูตรโกงที่สามารถใช้จอยกดเอาเองก็ได้ หรือจะใช้สิ่งที่เรียกว่า “Action Replay” ใส่ Code โกงเกมเข้าไปก็ได้ ซึ่ง Action Replay จะมีทั้งแบบตลับเสียบท้ายเครื่องหรือจะเป็นแบบแผ่น CD ให้เครื่องอ่านแล้วใส่รหัสเข้าไป ซึ่งวิธีใส่รหัสพอเปิดเครื่องขึ้นมามันก็เข้าหน้า Menu สีฟ้า ๆ อารมณ์คล้าย ๆ กับการเข้าหน้า Bios ของ PC เลยล่ะ (เหมือนกำลังแฮคอยู่) แล้วเราก็สามารถใส่โค้ดที่ต้องการจะโกงเข้าไปได้ ซึ่งแน่นอนว่าโค้ดก็จะหาได้จากหนังสือรวมโค้ดเกมที่ต้องซื้อแยกต่างหากอีกด้วย แถมเกม ๆ หนึ่งยังมีเป็นสิบ ๆ สูตรโกงเลยนะ ถือว่าเป็นแรร์ไอเทมสำหรับยุคนี้ไปแล้ว
5. NES Zapper
หลายคนอาจจะเคยได้ยินมาบ้างว่าเครื่องเกมเก่าแก่อย่าง Famicom ก็มี Gadget เสริมกับเค้าเหมือนกัน โดยเฉพาะที่ฮิตทั่วบ้านทั่วเมืองในยุคนั้นเลยก็คือ NES Zapper หรืออาจจะเรียกเป็นชื่ออื่นเช่น The Light Gun หรือ Beam Gun ที่มันฮิตเพราะว่ามันมีความน่าสนใจค่อนข้างสูง เพราะในยุคที่วิดีโอเกมแทบจะทุกเกมต่างใช้คอนโทรลเลอร์เป็นจอยสติ๊ก บังคับเกมด้วยปุ่มลูกศรและ AB กลับมีคอนโทรลเลอร์เป็นรูปปืนที่ใช้เล่นเกมยิงปืนได้ขึ้นมา และเกมที่ใช้เล่นเจ้าปืนนี้โดยเฉพาะก็คือ Duck Hunt เกมยิงเป็ดชื่อดัง และ Wild Gunman เกมจำลองเหตุการณ์คาวบอยดวลปืนปืนกันสุดเท่ ซึ่งแน่นอนว่าใครที่เคยใช้ปืนนี้เล่น 2 เกมนี้ ขอบอกเลยว่าอายุน่าจะไม่ใช่น้อย ๆ แล้วล่ะ
6. RF-Cable
พูดเรื่องสายเคเบิ้ลที่ใช้แสดงผลภาพและเสียงของเครื่องเกม Console นั้น ทุกวันนี้คงเป็นสาย HDMI กันหมดแล้ว และถ้าใครคิดว่าสายที่เก่าแก่ของวงการเครื่อง Console คือสาย RCA หรือที่เรียกติดปากว่าแจ็คสามสีก็ยังไม่ถูกเท่าไหร่นัก เพราะวงการเกมเคยมีสายเคเบิ้ลที่เรียกว่า RF-Cable อยู่ เป็นสายที่ใช้เสียบจากเครื่องเกมมาเข้าหาทีวีรุ่นเก่าในบ้านเรา ซึ่งในช่วงเวลานั้นเราจะใช้ทีวีจอนูนในการฉายภาพและเสียงเวลาเล่นเกมจากเครื่อง Console และแน่นอนว่าคุณภาพมันไม่มีทางเทียบเท่าสาย HDMI ในปัจจุบันที่เป็นสายแบบความละเอียดสูงได้ บางครั้งก็ภาพเบลอ และสีก็ยังเพี้ยนอีกด้วย เรียกได้ว่าคลิปยูทูป 480p ยังชัดกว่ามาก ถ้าใครที่ทันเล่นเกมด้วยภาพเบลอ ๆ สีเพี้ยน ๆ จากสาย RF-Cable บนจอสี่เหลี่ยมจัตุรัส คงต้องยอมรับแล้วล่ะครับว่าเราแก่จริง ๆ (555)
เป็นยังไงบ้างครับ กับ “6 แรร์ไอเทมแห่งวงการเกมที่คนเคยใช้นั้นไม่ใช่เด็กแล้วนะ” ขอเสียงคนแก่หน่อย (555) ทุกวันนี้ทั้ง 6 อย่างที่กล่าวไปล้วนหายากขึ้นทุกที จะมีก็คงจะเป็นแนวของสะสมหรือของเก่าเท่านั้น เพราะหากจะใช้งานเชิงประสิทธิภาพแล้ว อุปกรณ์รุ่นใหม่ในปัจจุบันนั้นเป็นทางเลือกที่ดีกว่าจริง ๆ แต่สิ่งเหล่านี้คือรากฐานในการพัฒนาวงการเกมให้ดียิ่งขึ้นไปอย่างแน่นอน เพราะถ้าไม่มีตัวต้นแบบหรือรุ่นก่อนหน้า ก็จะไม่มีเทคโนโลยีที่พัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปในอนาคต และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน พอเวลาผ่านไปก็ต้องตกรุ่นและหายไปตามกาลเวลา แล้วถูกทดแทนด้วยอุปกรณ์หรือเทคโนโลยีที่ดีกว่า ยกตัวอย่างในปัจจุบันนั้นเทคโนโลยี VR มาแรงมาก อาจมีความเป็นไปได้ที่ VR อาจจะมาแทนอุปกรณ์บางอย่าง เช่น Monitor หรือ TV ก็เป็นได้ อย่างไรก็ตามทุกสิ่งล้วนขึ้นอยู่กับตัวผู้ใช้งานอย่างเรานี่แหละครับ ถ้าของเก่าดีจริงแล้วของใหม่ออกมามันไม่เวิร์ค ผู้ใช้อย่างเราก็เลือกของเก่าอยู่ดีใช่ไหมล่ะครับ เรามารอลุ้นกันดีกว่าว่าในอนาคตจะมีเทคโนโลยีอะไรใหม่ ๆ ออกมาให้เราได้ตื่นเต้นกันอีกบ้าง 😀
ข่าวสารเกมอื่น ๆ : GamerCulture
ผู้เขียน : TF_MakinoJou