เกมไลฟ์สไตล์

7 แรงกระตุ้นที่ให้เกิดการ Toxic ในเกมออนไลน์

ถ้าเริ่มมีสถานการณ์แบบนี้ ตั้งการ์ดรอไว้ได้เลย

สำหรับเกมที่เป็นแนว Multiplayer ที่สามารถเล่นด้วยกันได้หลายคนพร้อมกัน แต่มีการแข่งขันระหว่างผู้เล่นเกิดขึ้นภายในเกมนั้น ย่อมเป็นธรรมดาที่จะต้องมีแพ้ชนะเกิดขึ้นกันในเกม และสิ่งที่ตามมาก็มักจะเป็นความหัวร้อน ความเจ็บใจ หรืออาจนำไปสู่สถานการณ์ Toxic ที่ใครหลายคนก็ไม่ได้ชอบมันเท่าไหร่ แต่ Toxic ก็ยังเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่อยู่คู่กับเกมออนไลน์มาอย่างช้านานและไม่มีทีท่าว่าจะหายไป บทความนี้เราได้รวบรวมเอาโมเมนต์ที่อาจกระตุ้นให้เกิด Toxic มาให้อ่านกัน เผื่อว่าจะทำให้เพื่อน ๆ ได้ตั้งการ์ดหรือทำใจไว้ได้ทันว่า ถ้าสถานการณ์แบบนี้ อาจจะต้องเตรียมรับแรงกระแทกจาก Chat ได้เลย

1. มีใครสักคนหนึ่งในทีม Score ไม่ดี


Score เป็นสิ่งที่มีให้เห็นแทบทุกเกมที่มีการแข่งขันแพ้ชนะกันระหว่างผู้เล่น เพื่อแสดงคะแนนที่เกิดขึ้นว่าผู้เล่นแต่ละคนเป็นยังไง ฆ่าศัตรูได้เยอะไหม ตายมากแค่ไหน หรือทำคะแนนรวมได้เท่าไหร่ บางคนอาจใช้ดูเพื่อวิเคราะห์ตัวเอง บางคนอาจดูฝ่ายศัตรูเพื่อประเมินความสามารถ แต่บางคนก็ดูเพื่อจับผิดทีมเดียวกัน ถ้าเกิดในทีมมีคนที่แต้มโดดเด่นเพียงคนเดียวก็คงไม่มีปัญหา แต่ถ้าเกิดว่าคนที่เตะตาเป็นคนที่มี Score น้อยที่สุดในทีม และไม่ได้อยู่ในมาตรฐานเดียวกับเพื่อน คน ๆ นั้นอาจเป็นเป้าหมายของการ Toxic ภายในทีมได้ง่าย ๆ เพราะเขาจะถูกประเมินว่าเป็นจุดอ่อนของทีมนั่นเอง

2. เริ่มมีข้อความจากฝ่ายตรงข้ามส่งเข้ามา


บางกรณี Toxic อาจไม่ได้เกิดขึ้นจากทีมของเราฝ่ายเดียว บางเกมที่สามารถพิมพ์แชทสดแบบ All Team ได้ ก็มีโอกาสที่จะถูก Toxic จากฝั่งตรงข้ามเหมือนกัน บางครั้งอาจจะมาตรง ๆ ง่าย ๆ เช่น lol, ez, haha หรืออะไรก็ว่าไป แต่บางทีอาจมาในแง่ของตัวอักษรเชิงสัญลักษณ์ เช่น “?” เป็นต้น ซึ่งมักจะมาในจังหวะกลางเกม กำลังเล่นกันอยู่ เกิดความผิดพลาดอะไรบางอย่างขึ้นแล้วโดนพิมพ์ใส่ แน่นอนว่าคนที่มีสติดีทุกคนย่อมรู้อยู่แก่ใจว่าการพิมพ์ “?” มาแบบนั้นไม่ได้มีเจตนาดีแน่ ๆ และแค่ตัวอักษรเพียงตัวเดียวก็อาจทำให้หัวร้อนจนเล่นเกมไม่สนุกเลยก็ได้ นี่ขนาดยังไม่เริ่มด่ากันจริงจังนะเนี่ย 

3. Spam แจ้งเตือน ข้อความ หรือ Emote


การ Spam ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิด Toxic ได้ ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม ต่อให้เราไม่ต้อง Spam พิมพ์ข้อความเดิมซ้ำ ๆ ก็ได้ แต่ถ้าเกมไหนมีแจ้งเตือนดัง ติ๊ง ๆ ๆ หรือกด Emote แบบคีย์ลัดได้รัว ๆ ก็อาจจะสร้างความรำคาญและความหมั่นไส้กันในทีมได้ง่าย ๆ ยกตัวอย่างเช่น คุณเล่นเกม MOBA เกมหนึ่ง แล้วมีเพื่อนร่วมทีมกดแจ้งเตือนเครื่องหมายตกใจใส่คุณรัว ๆ ดังติ๊ง ๆ ๆ ไม่ยอมหยุดโดยที่ไม่รู้เจตนา การตั้งคำถามและการพิมพ์ข้อความด่ากันก็อาจจะเริ่มต้นขึ้น หรือคุณอาจจะกำลังเล่นเกม FPS เกมหนึ่งอยู่ แล้วมีเพื่อน Spam ข้อความ “Need Healing” รัว ๆ ในตอนที่คุณเป็นตัวฮีล บางครั้งคุณก็อาจจะหมั่นไส้จนไม่อยากฮีลคน ๆ นั้นเลยก็ได้ และความ Toxic ก็อาจจะบังเกิดขึ้นครับ

4. ภาพรวมเกมค่อนข้างตึงและกดดัน


เป็นกันมาตั้งแต่สมัยแรกเริ่มแล้ว ที่เกมยากมักจะสร้างความหัวร้อนให้กับผู้เล่น แต่คำว่ายากของยุคนี้อาจไม่ได้ยากที่ตัวด่านหรือบอทที่สู้กับเรา แต่มันยากเพราะผู้เล่นคนอื่นเองก็มีฝีมือ การที่ฝีมือห่างกันมาก ๆ อาจจะไม่ได้รู้สึกเครียดขนาดนั้น เพราะแพ้ก็หรือชนะมันก็เห็นกันชัด ๆ อยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นเกมที่ฝีมือสูสีกัน กินกันไม่ลง ถ้าใครพลาดก่อนเกมก็แพ้ไปเลย แล้วต้องมาจ้องหาจังหวะกันว่าใครจะพลาดก่อน เกมแบบนี้แหละครับที่สร้างความตึงเครียดและความกดดันให้กับผู้เล่นอย่างมาก ยิ่งถ้าเป็นเกมที่เล่นเป็นทีมแล้วล่ะก็ ความอดทนของคนเราย่อมไม่เท่ากัน พอเกิดความผิดพลาดจนนำมาสู่ความพ่ายแพ้ก็อาจทำให้เกิดการโทษกันเองภายในทีมได้

5. มีใครบางคนโดนเพ่งเล็งเป็นพิเศษ


เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ไม่รู้ว่าสาเหตุเกิดจากทีมเราหรือทีมศัตรู แต่ Score มันจะเห็นชัด ๆ ว่ามีผู้เล่นคนหนึ่งแต้มตายสูงกว่าชาวบ้านเขาแน่ ๆ โดยมันจะมีผู้เล่นอยู่ประเภทหนึ่งที่ชอบจับจุดอ่อนของฝ่ายตรงข้าม ถ้าเขาจับหลักได้แล้วว่าฆ่าใครได้ก็จะจ้องเล่นงานแต่คน ๆ นั้นเพียงคนเดียวเพื่อความสนุกและความสะใจของเขาโดยไม่สนถึงเหตุผลด้านเกมเพลย์ว่าควรฆ่าตัวไหนก่อน ขอแค่ได้ฆ่าคนที่อยากฆ่าก็พอใจแล้ว แต่คนที่โดนนั้นอาจจะไม่ได้สนุกไปด้วย เพราะนอกจากจะตายจากฝีมือคนเดิมซ้ำ ๆ จนแทบไม่ได้เล่นแล้ว อาจทำให้เขาต้องโดนเพื่อนร่วมทีมด่าใส่ทั้ง ๆ ที่เขาเองก็ไม่ได้ตั้งใจจะให้เป็นแบบนั้น เพียงแต่ว่าไปเข้าตาของอีกฝ่ายเท่านั้นเอง กลายเป็นว่าคนที่โดนเพ่งเล็งจะโดน Toxic ใส่ หรือไม่ก็อาจจะโทษเพื่อนร่วมทีมที่ไม่ปกป้องเขาก็เกิดขึ้นได้เหมือนกัน

6. อีกฝ่ายเล่นตัวละครเดียวกันแต่ดีกว่าทีมเรา


การเปรียบเทียบคือหายนะของความไว้ใจและการทำงานกันเป็นทีม ขนาดเราโดนเปรียบเทียบกับลูกป้าข้างบ้านเราก็ยังไม่ชอบเลย การเปรียบเทียบกันในเกมก็ส่งผลแบบนั้นเหมือนกันครับ ยิ่งเกม Multiplayer ที่มีตัวละครให้เลือกเล่นนั้น ถ้าเรากับฝ่ายตรงข้ามมีตัวละครตัวเดียวกันโผล่มาล่ะก็ ผู้เล่นส่วนใหญ่มักจะเกิดการเช็ค Score ของทีมเรากับทีมเขา ว่าตัวเดียวกัน Score ต่างกันไหม และแน่นอนว่าถ้าฝ่ายเราเล่นไม่ดีเท่าอีกฝ่าย ย่อมต้องเกิดการเปรียบเทียบและเกิด Toxic ขึ้นได้ง่าย ๆ ยิ่งถ้าตัวละครตัวนั้นมีการดวลกัน 1-1 ยิ่งแล้วใหญ่ ตัวก็เหมือนกัน สกิลก็เหมือนกัน ทำไมถึงแพ้ได้ สุดท้ายก็อาจจะเกิดการทะเลาะกันในทีมจนได้ครับ

7. มีคนในทีมผิดพลาดเรื่องเดิมซ้ำ ๆ


ผู้เล่นบางคนเป็นสายปลาทองที่ไม่ค่อยจำว่าตรงจุดนี้มีคนจ้องจะเล่นเขาอยู่ ส่วนใหญ่มักเกิดจากอีโก้ที่คิดว่าตัวเองแก้ปัญหาได้ อยากจะลองชนดูอีกที ถ้าลองอีกครั้งต้องไม่แพ้แน่ แต่อย่าลืมว่าเกมออนไลน์ย่อมมีกลยุทธ์และวิธีเล่นของมัน การพลาดซ้ำ ๆ อาจไม่ได้หมายถึงฝีมืออ่อนกว่าเพียงอย่างเดียว แต่อาจจะอยู่ที่สถานการณ์และการแพ้ทางของตัวละครด้วย ซึ่งแน่นอนว่าการผิดซ้ำ ๆ นอกจากจะทำให้คนที่พลาดนั้นหัวร้อนแล้ว เพื่อนร่วมทีมยังต้องเตรียมตัวพิมพ์ด่าอย่างแน่นอน ถ้าคุณเริ่มเห็นว่ามีเพื่อนร่วมทีมไปตายทีเดิมบ่อย ๆ ก็เตรียมใจรอชม Toxic จากคนในทีมได้เลยครับ

และนี่ก็คือ “7 โมเมนต์ที่กระตุ้นให้เกิด Toxic ในเกมออนไลน์” เป็นยังไงกันบ้างครับ ตรงกับประสบการณ์ของเพื่อน ๆ บ้างไหม เอาจริง ๆ เรื่องการ Toxic เนี่ยมันก็มีเหตุผลแตกต่างกันไปตามเกม ตามเหตุการณ์ครับ บางคนเป็นสายเกรียน อยากพิมพ์ Toxic ก็พิมพ์มาดื้อ ๆ โดยไม่มีเหตุผลเลยก็ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะดำเนินมาจาก 7 ข้อที่ว่ามานี่แหละครับ ถ้าเพื่อน ๆ มีสถานการณ์ไหนที่เคยเจอ Toxic มาก็เอามาระบายในคอมเมนต์กับเราได้นะครับ 🙂

Now Loading

ชอบเพลง Metal | บันเทิงกับการถ่ายรูป | ของโปรดคือเนื้อย่าง | เล่นเกมบ้างบางเวลา
Back to top button

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save